วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ตำนานดอยนางนอน


ดอยนางนอน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

เรื่องตำนานดอยนางนอนนี้ เล่ากันว่า นานมาแล้ว ณ เมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา มีเจ้าหญิงองค์หนึ่ง มีพระสิริโฉมงดงามเป็นอย่างยิ่ง ได้แอบรักกับชายเลี้ยงม้าในวัง อันเป็นการผิดกฏตามโบราณราชประเพณี จึงจำต้องหลบหนีตามกันมา จนกระทั่งถึงที่ราบแห่งหนึ่งใกล้แม่น้ำโขง ช่วงเวลาที่ทั้งคู่หลบหนีมาด้วยกันนั้น เจ้าหญิงก็ทรงพระครรภ์ได้หลายเดือนแล้ว จึงเสด็จต่อไปไม่ไหว นางจึงบอกพระสวามีว่าจะประทับรออยู่ที่นี่ ส่วนสวามีก็บอกนางว่าจะไปหาอาหารมาให้ อย่าไปไหนนะ ว่าแล้วชายหนุ่มก็เดินทางออกไปหาอาหารในป่านั้น แต่ทว่าชายหนุ่มนั้นจากไปนานแล้วไม่กลับมาเสียที พอเจ้าหญิงมาได้ทราบข่าวอีกที ปรากฏว่าชายหนุ่มผู้นั้นถูกฆ่าโดยทหารของพระราชบิดาของเจ้าหญิง ซึ่งได้สะกดรอยตามมาตลอดนั่นเอง ด้วยความเสียพระทัย นางจึงใช้ปิ่นปักผม แทงพระเศียรของพระองค์จนโลหิตไหลออกมาเป็นสายจนถึงแก่พระชนม์ชีพ และสายพระโลหิตที่ได้หลั่งไหล่ออกมานั้นได้กลายมาเป็นต้นแม่น้ำแม่สายในทุกวันนี้ ส่วนพระวรกายของพระองค์ที่นอนเหยียดยาวจาก ทิศใต้จรดทิศเหนือ ก็กลายเป็นดอยนางนอนจวบจนทุกวันนี้ และส่วนของพระอุทร(ท้อง)ก็เป็นดอยตุง

เส้นทางที่จะไปยังอำเภอแม่จันนั้น มีขุนเขาทอดตัวคล้ายผู้หญิงนอนเหยียดยาว จึงเรียกว่า ดอยนางนอน เดิมชื่อ ดอยตายสะหรือดอยสามเส้า ซึ่งสอดคล้องกันกับตำนานลาวจก เทวบุตรอย่างแนบแน่น ดอยส่วนที่ศีรษะเรียกว่า ดอยจ้อง หรือดอยจิกจ้อง (เดิมเรียกดอยนี้ว่า ดอยท่าหรือดอยต้า) เป็นดอยของลูกชายปู่เจ้าลาวจกที่รอคอยพ่อ ดอยลูกถัดมาเรียกว่า ดอยย่าเฒ่า ซึ่งเป็นภรรยาของปู่เจ้าลาวจก ส่วนดอยอีกลูกหนึ่งคือ ดอยดินแดง หรือดอยปู่เจ้าลาวจก หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ ดอยตุง 
เชื่อกันว่า ดอยทั้ง ๓ นี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของลาวจักราช ผู้เป็นต้นราชวงศ์ของพญามังราย ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายมาสร้างเมืองหิรัญนครเงินยาง เหนือดอยดินแดงเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยตุง อันถือเป็นปฐมธาตุแห่งแรกของภาคเหนือ


วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง)

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพระธาตุดอยตุง อันเป็นปูชนียสถานสำคัญของภูมิภาคนี้ อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวงของปวงชนชาวไทย สำหรับเทือกเขาดอยนางนอนนี้ มี จุดสูงสุดคือ ผาช้างมูบ ซึ่งมีความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 830 เมตร

สภาพพื้นที่ทั่วไปของดอยนางนอนเป็นภูเขาหินปูน ซึ่งมีถ้ำอยู่หลายแห่ง ดังนั้นพื้นที่ทางตะวันตกจึงเป็นที่สูงและลาดลงไปทางตะวันออกเป็นพื้นที่การ เกษตร ไปจนจรดเขตอำเภอเชียงแสน ส่วนทางทิศใต้เป็นที่ราบติดกับอำเภอแม่จันและอำเภอแม่ฟ้าหลวง


พระตำหนักดอยตุง



เพลง นางนอน 
ศิลปิน : สุนทรี เวชานนท์ 
เนื้อร้อง-ทำนอง : รังสรรค์ ราศี-ดิบ
เรียบเรียง/โปรแกรม : อนิรุธท์ ว่องชิงชัย
ดนตรีพื้นเมือง : ภานุทัติ อภิชนาธง
ปี่น้ำเต้า /Bunsuri :บฤงคพ วรอุไร
มิกซ์ดาวน์ มาสเตอร์ : วรายุทธ์ ประชาพิพัฒน์

 ม่อนงามเมฆลอย เสียดสูงสุดสอย
นางคอยเนิ่นนาน ผ่านเลยเวลา
ตำนานนิทรา เล่าขาน มหัศจรรย์

ทอดยาวนางนอน สุดเขตพงไพร
เอนลงหลับใหล บ่คึด บ่ฝัน
รักแหลกสลาย รินสาย ธารา
อาบลมห่มฟ้า เมฆขาว โอบคลุม

** นางนอน.. ดอยตุง ข้ามุ่ง ข้าหวัง
เพียงเศษพลัง แห่งรักมั่นคง
ซื่อแต้ สัตย์ตรง หนักแน่น ภูผา

ยินเพลงผ่านมา ผ่านฟ้า สวรรค์
ผ่านเลย คืนวัน ผ่านฝันที่ เฝ้ารอ
ใหม่เก่า ก่อน หลัง หมุนเวียนฤดูกาล
ขับขานนิทาน จากดวงดารา

(** นางเอยจ่งถ้า ข้าเก็บหมากไม้ เซาะเสบียง เพียงพ้นผ่าน ไป เป็น ไท สองเฮา ปั๊ดตา ทหาร รุมล้อมโบก โบย ตี ปลิดปลงชีวี พลีรัก นิรันคร์ ) 

รักแหลกสลาย เป็นสาย ธารา อาบลมห่มฟ้า เมฆขาว โอบคลุม **

แหล่งข้อมูลอ้างอิง http://maesaibanrao.blogspot.com/p/blog-page_1556.html

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตำนานรัก ‘เจ้าชายสยาม’ กับ ‘เจ้าหญิงล้านนา’ (ประวัติเพลงลาวดวงเดือน)



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
และ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์" เป็นผู้พระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชนมายุ 20 พรรษา กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า "วงพระองค์เพ็ญ" พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ



ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษมาใหม่ ได้ทรงเสด็จขึ้นไปเที่ยวนครเชียงใหม่อันเป็นนครแห่งศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาสมัยนั้น สมัยนั้น พระยานริศราชกิจเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำมลฑลพายัพ ได้จัดการรับเสด็จต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงค์อย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้จัดการรับเสด็จอย่างประเพณีชาวเหนือโดยแท้ โดยให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก มีการแสดงละครและดนตรีในคุ้มนี้ด้วย

ในงานต้อนรับเสด็จครั้งนี้ เจ้าอินทวโรรสและเจ้าแม่ทิพยเนตรได้ชวนเชิญเจ้าพี่เจ้าน้อง และพระญาติวงศ์มาร่วมรับเสด็จโดยพร้อมเพรียงกัน ในบรรดาพระญาติวงศ์เจ้านายเชียงใหม่ ปรากฎว่ามีเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น พร้อมด้วยธิดาองค์โต นามว่า เจ้าหญิงชมชื่น อายุเพิ่งย่างเข้า ๑๖ ปี มาร่วมในงานนี้ด้วย

เล่ากันว่าเจ้าหญิงชมชื่นมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นนวลใย ใบหน้าอิ่มเอิบเปล่งปลั่งดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีเลือดฝาดขึ้นบนใบหน้า จนแก้มเป็นสีชมพู เพราะผิวขาวประดุจงาช้างอยู่แล้ว อีกทั้งเจ้าหญิงชมชื่นเป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวง ประกอบกับความน่ารักนุ่มนวลละมุนละไมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี บังเกิดความสนพระทัยในดรุณีแน่งน้อย อายุ ๑๖ ปีนี้มาก

กล่าวกันว่า พระองค์เมื่อได้เห็นเจ้าหญิงชมชื่นก็ถึงกับทรงตะลึง ในความงามอันน่าพิศวงจนเกิดความพิสมัยขึ้นในพระทัยเหมือนกับชายหนุ่มพบคนรักครั้งแรก ในวันต่อมา พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงมลฑลพายัพ เป็นผู้นำพระองค์ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้มหน้าวัดบ้านปิง เจ้าหญิงชมชื่นได้มีโอกาสต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน

นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็นยิ่งนัก พระองค์จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์ แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน

และตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนี้ เจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ

พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาล ขัดขวางไม่ให้รักสมหวัง ไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน เมื่อผิดหวังก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ ด้วยความร้าวรานพระทัย คงปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์ ครั้นถึงกรุงเทพฯ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างต่าง นานา

เป็นอันว่า ความรักของพระองค์ประสบความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ คราใดสายลมเหนือพัดมา... พระองค์ชายของเราก็แสนเศร้ารันทดใจครานั้น... เศร้าขึ้นมาคราใด พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ก็เสด็จไปฟังดนตรีตามวังเจ้านายต่างๆ ทั้ง วังสมเด็จ วังบูรพา และวังบางขุนพรหม ทุกครั้งที่ทรงสดับดนตรีและทรงดนตรีพระองค์จะโปรดเพลง ลาวเจริญศรี เป็นพิเศษ เพราะเป็นเพลงที่นอกจากจะมีความไพเราะอ่อนหวานแล้ว ยังมีบทร้องที่ว่า

อายุเยาวเรศรุ่นเจริญศรี
พระเพื่อนพี่แพงน้องสองสมร
งามทรงงามองค์อ่อนซ้อน
ดังอัปสรหยาดฟ้าลงมาเอย



บทร้องนี้ ทำให้พระองค์หวนรำลึกถึงโฉมอันงามพิลาส ของเจ้าหญิงชมชื่นผู้เป็นที่รัก พระองค์จึงทรงระบายความรัก ความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึง 
เจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจ ดังนี้...

โอ้ละหนอ... ดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุมภ์ ข้อยนี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย....เอ๋ย..เราละหนอ

โอ้ละหนอ นวลตาเอย ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกอาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรม เริดร้างเวหา ข้อยเบิ่งดูฟ้า (ละหนอ) เห็นมืดมน
พี่จะทนทุกข์...ทุกข์ทน เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
ถึงจะหวาน เสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่เหมือนทรามเชย...เราละหนอ...

นี่เอง เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ เป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวน หวนคำนึงรำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง ความรัก-ความหลัง คราใดที่ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย ลาวเจริญศรี และลาวดวงเดือน ซึ่งขาดไม่ได้ตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน

กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงมีพระชนมายุน้อยมาก เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน และประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยสมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก อีกทั้งทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงานเพื่อจะให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของพระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระชนม์ชีพของพระองค์สั้นจนเกินไป พระองค์ด่วนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชันษา ๒๘ ปีเท่านั้น

เพลงลาวดวงเดือน เพลงนี้ เป็นหลักฐานปรากฏผลงานการแต่งเพลงของพระองค์เพียงเพลงเดียวเท่านั้น เพราะไม่สามารถสืบทราบได้ว่าพระองค์ทรงแต่งเพลงใดขึ้นมาอีกหรือไม่ แม้ว่าจะทรงแต่งเพียงเพลงเดียว ลาวดวงเดือน ก็ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์ด้วยชีวิต จิตใจ และวิญญาณ ความรัก ความหลัง ของพระองค์ทั้งหมดลงในเพลงนี้

เพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงอันประดุจอนุสรณ์แห่งความรักอมตะระหว่าง... พระองค์เจ้าชายเพ็ญกับเจ้าหญิงชมชื่นผู้เลอโฉม และจะเป็นเพลงรักหวานซาบซึ้งตรึงใจ อยู่ในห้วงหัวใจคนไทยทั้งชาติ ต่อไปอีกนานเท่านาน...

จริงๆ แล้ว กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมทรงตั้งชื่อเพลงว่า ลาวดำเนินเกวียน เนื่องจากระหว่างเสด็จไปราชการตามหัวเมืองสมัยนั้นก็ค่อนข้างลำบาก เพราะทางรถไฟยังไปไม่ทั่วถึง มีแต่ทางเกวียนเป็น 
ส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากบทร้องพระนิพนธ์ขึ้นต้นว่า " โอ้ละหนอดวงเดือนเอย" และตอนที่จบท่อนก็มักจะมีคำว่า "ดวงเดือน"ก็เลยเป็นที่จดจำกันถึงคำนี้มากกว่าชื่อแท้จริงของเพลง และยังฟังไพเราะเหมาะสมกับทำนองและเนื้อร้องมากกว่า ก็เลยกลายเป็น ลาวดวงเดือน อย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้




เนื้อเพลง ลาวดวงเดือน
ผู้ขับร้อง ดวงพร ผาสุข

โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม (เอื้อน) พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย (ซ้ำ)

หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย (ซ้ำ)
หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชยเอยเราละเหนอ





วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

เวียงกุมกาม ตำนานที่เป็นจริง

เวียงกุมกาม




เมื่อกว่า 700 ปีก่อน พญามังราย กษัตริย์แห่งโยนกนคร ผู้สืบเชื้อสายมาจากลวจักราช ได้แผ่อำนาจมายังลุ่มแม่น้ำกกและเข้ายึดครองเมืองหริภุญไชย อันเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีเป็นศูนย์กลางการค้าและความเจริญ แต่แล้วในปี พ.ศ.1837 ก็ทรงย้ายไปสถาปนา เวียงกุมกาม ในบริเวณที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำปิง(สายเดิม) ให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา


การสถาปนา

หลังจากที่พญามังรายได้ปกครองและพำนักอยู่ในนครหริภุญชัย (ลำพูน) อยู่ 2 ปี พระองค์ทรงศึกษาสิ่งหลายๆอย่าง และมีพระราชดำริที่จะลองสร้างเมืองขึ้น เมืองนั้นก็คือ เวียงกุมกาม แต่พระองค์ก็ทรงสร้างไม่สำเร็จ เพราะเวียงนั้นมีน้ำท่วมอยู่ทุกปี จนพญามังรายจึงทรงต้องไปปรึกษาพระสหาย คือพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา หลังจากทรงปรึกษากันแล้วจึงทรงตัดสินใจไปหาที่สร้างเมืองใหม่ ในที่สุดจึงได้พื้นที่นครพิงค์เชียงใหม่เป็นเมืองใหม่ และ เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา จึงสรุปได้ว่าเวียงกุมกามนั้น เป็นเมืองที่ทดลองสร้าง

การล่มสลาย

เวียงกุมกามล่มสลายลงเพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101 - 2317 ซึ่งตรงกับสมัยพม่าปกครองล้านนา พม่าปกครองล้านนาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงเวียงกุมกามทั้งๆที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เป็นเรื่องร้ายแรงมากและสมควรที่จะบันทึกไว้ แต่ก็ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ใดเลย ผลของการเกิดน้ำท่วมนี้ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินจนยากที่จะฟื้นฟูกลับมา สภาพวัดต่างๆ และโบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงซากวิหารและเจดีย์ร้างที่จมอยู่ดินในระดับความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 1.50 -2.00 เมตร โดยวัดที่จมดินลึกที่สุดคือวัดอีค่าง รองลงมาคือ วัดปู่เปี้ย และวัดกู่ป่าด้อม

การขุดค้นพบ

ในปี พ.ศ. 2527 เรื่องราวของเวียงกุมกามก็เริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ทำให้หน่วยศิลปากรที่ 4 ขุดแต่งบูรณะวัดร้าง (ขุดแต่งวิหารกานโถม ณ วัดช้างค้ำ) และบริเวณโดยรอบเวียงกุมกามอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2545 ปัจจุบันเวียงกุมกามก็ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเวียงกุมกามมีความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งความรู้การศึกษาในแบบของเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมตลอดจนวัฒนธรรมล้านาต่าง ๆ โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ

ที่ตั้ง และ ลักษณะ

เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ดังนั้นในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เชื่อกันว่าเนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำดั่งเช่นปัจจุบัน

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำดังกล่าวคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่จนเวียงกุมกามล่มสลาย และวัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อีกหนึ่งสมมติฐานที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้างนั้นอาจเป็นได้ว่าเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าทำให้ผู้คนหลบหนีออกจากเมืองไปก็เป็นได้

ปัจจุบันเวียงกุมกามอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณ ก.ม. 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ด้านขวามือ ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง

สภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ของเวียงกุมกามตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ดอยถ้วย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณแอ่งที่ราบแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน เป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนรวม 13 อำเภอ (โดย 10 อำเภออยู่ในจังหวัดเชียใหม่คือ แม่แตง แม่ริม สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง เมือง สารภี หางดง สันป่าตอง และจอมทอง และอีก 3 อำเภออยู่ในจังหวัดลำพูนคือ เมือง (ลำพูน) ป่าซาง และบ้านโฮ่ง) โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 940,000 ไร่




เวียงกุมกาม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง http://travel.sanook.com/579211/

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ฟ้อนดาบล้านนา

การฟ้อนดาบ




การฟ้อนดาบมีที่มาจากศิลปะการต่อสู้ของชายชาวล้านนาแต่โบราณ โดยผู้เรียนจะต้องเรียนฟ้อนเชิงมือเปล่าให้คล่องแคล่วเสียก่อนจึงจะเรียน ฟ้อนดาบ หรือฟ้อนประกอบอาวุธอื่นๆ ต่อไป แม่ลายฟ้อนของฟ้อนดาบจะคล้ายกับแม่ลายฟ้อนของฟ้อนเชิง แม่ลายฟ้อนของแต่ละครูก็จะแตกต่างกันไป แต่พ่อครูคำ กาไวย์ และอาจารย์ธีรยุทธ ยวงศรี ได้ร่วมกันสืบค้นและเรียบเรียงแม่ลายฟ้อนไว้ให้สอดคล้องกันเพื่อง่ายต่อการ จดจำโดยอาศัยแนวจากการพรรณนาชื่อแม่ลายในการร่ายรำอาวุธจากมหาชาติฉบับสร้อยสังกรกัณฑ์มหาราช เพื่อสอนนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ดังนี้ ช่วง ที่ ๑ ไหว้ครูและขอขมาอภัย เริ่มจากวางดาบ ไขว้กัน เอาสันดาบเข้าหากันดาบทั้งสองเล่มนั้นห่างกันพอประมาณ จากนั้นหากผู้ฟ้อนเป็นผู้ชายให้เดินตีวงรอบดาบ ๑ รอบ แล้วเริ่มตบบะผาบหรือฟ้อนสาวไหมอย่างใดอย่างหนึ่ง จบแล้วจึงนั่งลงไหว้หากผู้ฟ้อนเป็นผู้หญิงให้นั่งไหว้ ๓ ครั้ง จากนั้นจับดาบ ไขว้ดาบจรดหน้าผาก แล้วเงยหน้าขึ้นก้มหน้าลง แล้วชักดาบลงไว้ข้างหลังทั้งสองข้างแล้วซุยขึ้นเป็นท่าบวกดาบโดยเริ่มจากด้านหน้าตรงก่อนแล้วหันไปทางขวาแล้วบิด ไปทางซ้าย

จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่แม่ลายที่ได้เรียบเรียงไว้ ๓๒ ท่า ดังนี้
๑. บิดบัวบาน
๒. เกี้ยวเกล้า
๓. ล้วงใต้เท้ายกแหลก
๔. มัดแกบก้องลงวาง
๕. เสือลากหางเหล้นรอก
๖. ช้างงาตอกต๋งเต๊ก
๗. ก่ำแปงเป๊กดินแตก
๘. ฟ้าแมบบ่ตันหัน
๙. จ๊างงานบานเดินอาจ
๑๐. ป๋าต้อนหาดเหินเหียน
๑๐. อินทร์ตือเตียนถ่อมถ้า
๑๒. เกิ๋นก่ายฟ้า
๑๓. สวกก้นพญาอินทร์
๑๔. แซดซูดน้ำบินเหิน
๑๕. สางลานเดินเกี้ยวก่อม
๑๖. กิมไฮฮ่อม
๑๗. ถีบโฮ้ง
๑๘. ควงโค้งไหล่สองแขน
๑๙. วนแวนล้วงหนีบ
๒๐. ชักรีบแทงสวน
๒๑. มนม้วนสีไคล
๒๒. แทงสวนใหม่ถือสัน
๒๓. จ๊างตกมันหมุนวงลวงรอบ
๒๔. เสือคาบรอกลายแสง
๒๕. สินส้น
๒๖. สินป๋าย
๒๗. ลายแทง
๒๘. กอดแยง
๒๙. แทงวัน
๓๐. ฟันโข่
๓๑. บัวบานโล่
๓๒. ลายสาง

เมื่อฟ้อนจบทั้ง ๓๒ ท่าแล้ว “นบน้อมขอกราบลงวาง”แล้วจบด้วยการฟ้อนดาบ “พญาเข้าเมือง”
และปัจจุบันนี้ ท่าฟ้อนดาบทั้ง ๓๒ ท่าที่พ่อครูคำ กาไวย์ และอาจารย์ธีรยุทธ ยวงศรี ได้เรียบเรียงไว้นี้ถือเป็นท่าฟ้อนดาบมาตรฐานที่เป็นต้นแบบให้กับผู้ที่ เริ่มต้นเรียนฟ้อนดาบอุปกรณ์ในการแสดงการฟ้อนดาบทั่วไปนิยมใช้ดาบเมืองจำนวน ๒ เล่ม โดยจะวางดาบไว้กับพื้น แล้วผู้ฟ้อนจะไหว้ครูบาอาจารย์ ฟ้อนเชิง ตบบะผาบ แล้วจึงจะมาหยิบดาบร่ายรำไปจนครบ ๓๒ ท่า แล้ววางดาบลงกับพื้นอีกครั้ง






ศรัณ สุวรรณโชติ ฟ้อนเจิงฟ้อนดาบสาธิตวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวล้านนา ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



ฟ้อนดาบ โฮงเฮียนสืบสานล้านนา

กลองสะบัดชัย




กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี กลองสะบัดชัยโบราณมี 3 ทำนอง คือ ชัยเภรี,ชัย ดิถี และชนะมาร

การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

รูปร่างของกลองสะบัดชัย

รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือกลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่วัดเจดีย์สูง ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก 1 ลูก กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน

ใช้ตีบอกสัญญาณ

1.สัญญาณโจมตีข้าศึก

2.สัญญาณบอกข่าวในชุมชน

เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ

วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง ‘' ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา

การแต่งกายของผู้แสดง

ผู้แสดงใส่ชุดพื้นเมืองเหนือ

ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือกลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่าง ๆ ในเขตล้านนา ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีกลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 30 – 35 นิ้ว ยาวประมาณ 45 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุด ( ล้านนาเรียก ‘' แซว่ ) โดยที่หมุดไม่ได้ตัดเรียบคงปล่อยให้ยาวออกมาโดยรอบ ข้าง ๆ กลองใหญ่ มีกลองขนาดเล็ก 2 - 3 ลูก เรียกว่า ลูกตุบ ‘' กลองลูกตุบทั่วไปมักมีสองหน้าบางแห่งมีหน้าเดียว ขนาดหน้ากว้างประมาณ 8 – 10 นิ้ว ความยาวประมาณ 12 – 15 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุดเช่นกัน

ดังที่ได้กล่าวแล้ว กลองสะบัดชัยในปัจจุบันเป็นกลองที่ย่อส่วนมาจากวัด เมื่อย่อขนาดให้สั้นลง โดยหน้ากว้างยังคงใกล้เคียงกับของเดิม ลูกตุบก็ยังคงอยู่ ลักษณะการหุ้มหน้ากลองเหมือนของเดิมทุกประการ ตัวกลองติดคานหามสำหรับคนสองคนหามได้ ต่อมาไม่นิยมใช้ลูกตุบ จึงตัดออกเหลือแต่กลองใหญ่ ลักษณะการหุ้มเปลี่ยนจากการตรึงด้วยหมุดมาใช้สานเร่งเสียง เพราะสะดวกต่อการตึงหน้ากลองให้ตึงหรือหย่อนเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ ข้างกลองประดับด้วยไม้แกะสลักซึ่งนิยมแกะเป็นรูปนาค และมีผ้าหุ้มตัวกลองให้ดูสวยงามอีกด้วย





เล่าเรื่องล้านนา ตำนานกลองสะบัดชัย



การตีกลองสะบัดชัย 1 โดย อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ



การตีกลองสะบัดชัย 2 โดย อาจารย์ สนั่น ธรรมธิ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://sites.google.com/site/jarussangumput/home/prawati-swn-taw


วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประเพณีเลี้ยงดง

ประวัติความเป็นมาของพิธีเลี้ยงดง (ผีปู่แสะ ย่าแสะ)




มีเรื่องเล่าว่าสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเชิงดอยคำได้พบยักษ์สามตนพ่อแม่ลูก ซึ่งยังชีพด้วยเนื้อสัตว์และเนื้อมนุษย์ เมื่อยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธเจ้าก็จะจับกิน แต่พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตาจนยักษ์ทั้งสามเกรงในพระบารมีจึงยอมแสดงความเคารพ พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนาและให้ยักษ์ทั้งสามรักษาศีลห้า 

แต่ผีปู่แสะย่าแสะไม่อาจรับศีลห้าได้ตลอดจึงขอกินเนื้อมนุษย์ปีละสองคน เมื่อพระพุทธองค์ไม่อนุญาต ก็ขอต่อรองลงมาเรื่อย ๆ จนขอกินเนื้อสัตว์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสบอกให้ไปถามเจ้าเมืองเอาเอง แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จจากไป โดยไว้พระเกศธาตุที่ต่อมากลายเป็นพระธาตุดอยคำ

ผีปู่แสะย่าแสะได้รับอนุญาติจากเจ้าเมืองให้กินควายได้ปีละครั้ง จึงได้มีประเพณีฆ่าควายเอาเนื้อสดสังเวยผีปู่แสะย่าแสะ ส่วนบุตรของปู่แสะย่าแสะได้บวชเป็นฤาษีชื่อสุเทวฤาษี ปัจจุบันพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้นหรือแรม 14 ค่ำ เดือน 9 บริเวณเชิงชายป่าด้านตะวันออกของตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับพิธีเซ่นสรวงนี้ ทำเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และเชื่อว่าจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และผลผลิตทางการเกษตรจะได้ผลดี โดยถือว่าเป็นการปัดเป่าไม่ให้สิ่งเลวร้ายมากินบ้านเมือง 

ในพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะนั้น ชาวบ้านจะเลี้ยงผีขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งหมายปองนางจามเทวีในอดีตไปพร้อมกันด้วย ก่อนเริ่มพิธีจะมีการขึ้นท้าวทังสี่ คือพิธีบอกกล่าวแก่ท้าวจตุโลกบาต มีการสร้างปราสาท คือหอผีชั่วคราวทำด้วยโครงไม้ไผ่ 12 หอ ซึ่งปราสาทของปู่แสะย่าแสะจะมีขนาดใหญ่กว่าผีอื่น ๆ โดยถือว่าผีปู่แสะย่าแสะนี้เป็นผียักษ์ 

สัตว์ที่จัดมาสังเวยผีปู่แสะย่าแสะคือควายเขาดำ และต้องเป็นควายรุ่นหนุ่มที่มีเขาสั้นแค่หู ในช่วงเช้ามืดของวันงาน ควายจะถูกฆ่า (การฆ่าจะเป็นหน้าที่ของผู้ชาย) เชื่อกันว่า ควายเทียบได้กับชีวิต ควายได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนมา ดังนั้น ควายถือได้ว่าเป็นตัวแทน ของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อแก้ข้อขัดแย้ง ส่วนต่างๆ ของควายเทียบได้กับส่วนต่างๆ ของสังคม ที่ต้องประกอบกันจึงจะบรรลุเป้าหมาย สำหรับเนื้อควายที่ใช้บูชาแล้วนั้นจะเอามากินร่วมกัน และยังมีการตั้งชื่อลูกตามชื่อของควายที่ตายไปด้วย เพื่อเป็นการตอบแทน

หน้าที่ในการเตรียมเครื่องเซ่นต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะต้องจัดเตรียมให้เสร็จก่อนวันงานไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ในพิธีกรรมพบว่ามีความเชื่อในเรื่อง "ขวัญ" ด้วย โดยการที่นำสายสิญจน์ในพิธีมาสู่ขวัญให้แก่ลูกหลานที่มาร่วมพิธี

คนทรงเป็นย่าแสะจะเป็นผู้หญิง ในระหว่างทำพิธีจะหลับตา เพราะเชื่อว่าถ้าลืมตามองใครคนนั้นจะตาย เชื่อว่าย่าแสะสามารถบันดาล ให้ฝนตกได้ ผีปู่แสะย่าแสะเป็นสิ่งที่เป็นที่นับถือของชาวเชียงใหม่มาแต่อดีต คนโบราณเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะหาความสงบสุขไม่ได้ และจะเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

เมื่อเริ่มพิธี ปู่อาจารย์หรือตั้งเข้า (คือคนประกอบพิธี) จะทำพิธีอัญเชิญผีปู่แสะย่าแสะก่อนอื่น ๆ โดยมีใจความว่าขอเชิญผีปู่แสะย่าแสะเปนเค้า ( “ เป๋นเก๊า ” ) คือเป็นประธานของผีทั้งหลาย พร้อมทั้งผีลูกหลานเสนาอำมาตย์ทั้งปวงมารับเครื่องสังเวย และขอให้ผีทั้งหลายช่วยกันดูแลรักษาบ้านเมืองให้อยู่เป็นสุข 

จากนั้นผีปู่แสะย่าแสะจะเข้าทรงม้าขี่หรือคนทรงก็จะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่จัดไว้แล้วอวยชัยให้พรต่าง ๆ
ต่อจากนั้นผีในร่างทางก็จะไปหยิบอาหารจากกระทงในปราสาททั้ง 12 มากินอย่างละเล็กละน้อยพร้อมทั้งดื่มสุราที่จัดไว้ให้ 

จากนั้นก็ไปนั่งบนหนังควายและโยกหัวควายไปมา พร้อมกับนำเอาเนื้อสดที่แขวนไว้ที่หอเคี้ยวกันไปด้วย เมื่อเคี้ยวกินเนื้อและดื่มสุราแล้ว ม้าขี่ก็จะนำเอาท่อนไม้มาทำที่แคะฟันแสดงว่าอิ่มหนำสำราญแล้วและท้ายสุด ม้าขี่จะล้มลงนอนกับพื้นสักครู่หนึ่ง เมื่อผีลาทรงแล้วก็ลุกขึ้นมามีอาการเป็นปกติ

ภายหลังการนำเอาพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีการทำบุญเลี้ยงพระก่อนการทำพิธีสังเวยและในช่วงที่พระสงฆ์สวดอยู่นั้น ก็เชิญเอาพระบฎหรือแผ่นผ้าที่วาดรูปพระพุทธเจ้ามาแขวนให้แกว่งไกวไปมา เพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เมื่อม้าขี่ไปถึงก็จะใช้ไม้ตีที่พระบฎนั้น เป็นที่ว่าพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าและตอนท้ายก็ยอมรับพุทธานุภาพ 

พิธีเลี้ยงดงปู่แสะย่าแสะนี้ ปฏิบัติกันมานานร่วมร้อยปีติดต่อกันมาแล้ว เพราะเป็นความเชื่อถือว่าหากผู้ใดได้เข้าร่วมพิธีแล้วจะรอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง ไม่ป่วย ไม่เจ็บ ไม่ไข้











เลี้ยงดง 2556 



เลี้ยงดง 2557

แหล่งข้อมูลอ้างอิง http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=658

ประเพณีสงกรานต์ (ปี๋ใหม่เมือง)


ชาวล้านนาถือเอาเดือนเมษายน หรือเดือน 7 เหนือ เป็นเดือนเปลี่ยนศักราชใหม่ เรียกกันว่า ปี๋ใหม่

           ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา มีความแตกต่างจากสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ทั้งระยะเวลา กิจกรรม ความเชื่อ และความมุ่งหมาย ดังนั้น ปีใหม่เมืองของชาวล้านนา จึงมีวันและกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติกัน มากกว่าสงกรานต์ของชาวไทยภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วย วันสังขานต์ล่อง วันเน่า วันพญาวัน วันปากปี วันปากเดือน และวันปากยาม

           ปีใหม่เมืองของชาวล้านนาตรงกับเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ในฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนมาก และช่วงเวลาว่างจากการทำไร่และเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จึงถือเอาวันปีใหม่เป็นวันทำบุญใหญ่วันหนึ่งในรอบปี เป็นวันที่สนุกสนานรื่นเริงด้วยการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เย็นฉ่ำ ถือขันน้ำรดน้ำให้แก่กัน มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น มะกอน ม้าจ๊กคอก อีโจ้ง (โยนหลุม) จึงเป็นโอกาสที่เด็กๆหนุ่มสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ได้พบเจอกันและทำกิจกรรมร่วมกันผ่านประเพณีต่างๆ เช่น สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด ดำหัว ทำบุญที่วัดในวันพญาวัน

           ก่อนจะถึงวันปีใหม่ บรรยากาศในทุกหมู่บ้านคึกคักด้วยการจัดเตรียมช่อตุงปีใหม่ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยนั่งตัดตุง หลากหลายสีมีตุงไส้หมู ตุงรูปคน ตุงสิบสองราศี ส่วนแม่เรือนพ่อเรือนปัดกวาดแผ้วถางบ้านให้สะอาดงดงาม เพื่อชำระล้างความสกปรกที่หมักหมมมาตลอดทั้งปี และต้อนรับสิ่งดีงามที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่

           การคำนวณวันขึ้นปีใหม่ในแต่ละปี โหราจารย์หรือผู้รู้ด้านวัฒนธรรมล้านนาจะเป็นผู้คำนวณ และประกาศปีใหม่เมืองของปีนั้นๆ เรียกว่า ปักขะทืนล้านนา หรือหนังสือปีใหม่เมือง โดยถือเอาวันที่ราศีมีนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกันในแต่ละปีเมื่อตรวจสอบถูกต้องแล้วจึงประกาศให้ชาวเมืองรับรู้ และปฏิบัติตนตามประเพณี เช่น วันที่ ๑๔ เมษายน อาจเป็นวันสังขานต์ล่อง ๑๕ เมษายน อาจเป็นวันเน่า ๑๖ เมษายน อาจเป็นวันพญาวัน เป็นต้น ปัจจุบัน ชาวล้านนานิยมทำบุญ และทำกิจกรรมเทศกาลปีใหม่เมือง ตามวันหยุดราชการในปฏิทินสากล วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันสังขานต์ล่อง ๑๔ เมษายน เป็นวันเน่า ๑๕ เมษายน เป็นวันพญาวัน

ประเพณีปีใหม่ของชาวล้านนา มีคติความเชื่อเกี่ยวกับขุนสังขานต์หรือขุนสังกรานต์ ซึ่งแตกจากความเชื่อของชาวไทยภาคกลาง คือไม่ได้กล่าวถึงท้าวกบิลพรหมและธรรมบาลกุมารแต่อย่างใด แต่กล่าวถึงขุนสังขานต์ในลักษณะ บุคลาธิษฐาน หมายถึงพระอาทิตย์ เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนศักราชในแต่ละปี และมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกมนุษย์ จากการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์


 วันสังขานต์ล่อง


           วันสังขานต์ล่อง หรือวันสังขารล่อง หรือวันสังกรานต์ล่อง เป็นวันแรกของกิจกรรมปีใหม่ "สังขานต์" คือคำเดียวกับ "สงกรานต์" ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า "ก้าวล่วงแล้ว" วันสังขานต์ล่องในภาษาล้านนา ตรงกับภาคกลาง คือวันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่าวันสังกรานต์ล่อง คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีน จะเข้าสู่ราศีเมษ

           วันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดสะโปก หรือประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใส

เด็กๆมักจะถูกหลอกให้ไปซักผ้าที่แม่น้ำแต่เช้าตรู่ เพราะจะได้เห็นสังขานต์ล่องที่แม่น้ำ คนโบราณได้สมมุติตัวสังขานต์เป็นคนแก่สองคน คือปู่สังขานต์และย่าสังขานต์ถ่อแพไหลมาตามแม่น้ำ บ้างก็ว่าปู่สังขานต์และย่าสังขานต์หาบกระบุงตะกร้า เดินมาตามถนน เพื่อมารอรับเอา เสนียดจัญไรทั้งหลาย ไปขว้างทิ้ง บ้างก็ว่าปู่สังขานต์ย่าสังขานต์ ห่มผ่าสีแดงล่องแพมาตามแม่น้ำ นำพาสิ่งไม่ดีเป็นอัปมงคลมาด้วย จึงต้องขับไล่ด้วยเสียงดังของประทัดเร่งเร้า ให้ผ่านไปโดยเร็ว วันนี้คนโบราณจึงจะเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้านเรือน ซักผ้า เผาเศษขยะใบไม้ให้สิ่งหมักหมมทั้งหลายหมดสิ้น ไปพร้อมๆกับสังขานต์ที่ล่องไป




พิธีลอยสังขานต์


           ชาวบ้านช่วยกันทำแพต้นกล้วย ให้เป็นสะตวงใหญ่วางบนแพ  ตกแต่งด้วยดอกไม้ ช่อ หลากสี ในสะตวงใส่เครื่องพลีกรรม ได้แก่ ข้าวหนม อาหาร ผลไม้ มะพร้าว กล้วย อ้อย ใส่ควัก (กระทง) และข้าวแป้งสำหรับใช้ปั้นเป็นรูปนักษัตประจำปีเกิด เมื่อทำสะตวงเสร็จแล้ว ทุกคนช่วยกันแบกเป็นขบวนแห่หามแพสังขานต์ด้วยฆ้องกลองไปยังลำน้ำแม่แจ่ม วางแพไว้ริมฝั่งน้ำ ปู่อาจารย์เป็นผู้ประกอบพิธี และกล่าวเสกข้าวแป้งด้วยคาถา "ยะถาวารีวาโห ปุโรสัพพะการัง ยักขียันติ เอวะเมตัง ยักขีโต หูมหังหูมเห เถถะเมหัง ขิปัง"จากนั้นให้ทุกคนปั้นแป้งเป็นก้อน เอาเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว แขนขา โดยเชื่อกันว่าเป็นการเช็ดเอาเสนียดจัญไร เคราะห์ภัยต่างๆ สิ่งชั่วร้ายที่มีอยู่ในเนื้อตัวออกไป เสร็จแล้วปั้นแป้งเป็นสัตว์ประจำปีเกิด นำไปใส่ในสะตวง พ่ออาจารย์ผู้ประกอบพิธี ก็จะกล่าวคำโอกาส ดังนี้ "โภนโต ดูราปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ วันนี้ก็เปนวันดี ตามวาระปีใหม่มาครบรอบปี ตามประเวณีมาแต่ก่อน เพื่อบ่หื้อส่อนหายสูญ ถึงวันที่ ๑๓ เมษายนก็เปนวันสังขานต์ล่อง ผู้ข้าทั้งหลายก็ได้ตกแต่งเครื่องสักการบูชา มีน้ำขมิ้นส้มปล่อยและโภชนะอาหาร มาถวายเพื่อส่งสังขานต์ปีเก่า เปนเคราะห์และนามสิ่งที่บ่ดีบ่งาม ได้กระทำไว้บ่ถูก ก็ขอหื้อตกไปตามแม่น้ำทางหลวง เคราะห์พันพวงก็ขอหื้อไปตามปู่สังขานต์ย่าสังขานต์เสียในวันนี้ ปีใหม่วันใหม่เดือนใหม่ ที่จักมาภายหน้า ขอหื้อผู้ข้าทั้งหลายจุ่งจำเริญ อายุวัณณะ สุขะ พละ และโชคชัยลาภะ ริมาค้าขึ้น กระทำสวนไร่นาก็ขอหื้อได้ข้าว มีลูกมีเต้าหลานเหลนก็ขอหื้อสอนง่ายดั่งใจ ขอหื้อฟ้าฝนตกมาตามฤดูกาล ยุต่างกินทานอย่าได้ขาดจิ่มเทอะ"หลังจากนั้น ทุกคนนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยมาสระเกล้าดำหัวลงในแพสังขานต์ และนำไปลอยลงน้ำแม่แจ่ม เพื่อให้เคราะห์ภัยต่างๆ ลอยไปกับสายน้ำพร้อมกับปีเก่า

ดำหัววันสังขานต์ล่อง


           การดำหัววันสังขานต์ล่อง เป็นกิจกรรมที่เป็นจารีตประเพณีที่ทำกันมาแต่อดีต การดำหัว ในความหมายโดยทั่วไปของชาวล้านนา หมายถึงการสระผม แต่การดำหัววันสังขานต์ล่อง หมายถึงการชำระล้างสิ่งอัปมงคลในชีวิตด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย การดำหัววันสังขานต์ล่อง จะต้องหันหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้ในปักทืน หรือหนังสือปีใหม่เมือง ซึ่งในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน ตัวอย่างเช่น ปักขะทืนล้านนา

           ผู้นำในการดำหัววันสังขานต์ล่องนี้ มีหัวหน้าครอบครัว เช่น พ่ออุ้ยแม่อุ้ย (ปู่ย่าตายาย)หรือพ่อบ้าน จะเป็นผู้เสกฝักส้มปล่อย ด้วยคาถา "โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยะสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุเม" แล้วนำส้มปล่อยไปแช่น้ำ และเสกด้วยคาถามนต์น้ำส้มปล่อย เช่น "สัพเคราะห์ สัพพะภัย สัพพะอุบาทว์ สัพพะพายาธิแลกังวลอนตรายทังหลาย ขอหื้อตกไปพร้อมกับสังขานต์ เคราะห์ทางหลังอย่ามาถ้า เคราะห์ทางหน้าอย่ามาหา พุทธังถอด ธัมมังถอด สังฆังถอด หูรู หูรู สวาหาย" หลังจากนั้นเอาน้ำส้มปล่อยมาลูบศีรษะตนเองก่อน แล้วจึงลูบศีรษะสมาชิกในครอบครัว และมักนำน้ำขมิ้นส้มปล่อยเช็ดล้างกาลกิณีที่ร่างกาย





วันเน่า


           วันเน่า เป็นวันที่สองของปีใหม่เมือง วันนี้ยังไม่ถือว่าเป็นปีใหม่ เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยังเนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในแง่โหราศาสตร์ถือเป็นวันไม่ดี ไม่ส่งเสริมมงคล และเชื่อว่าหากใครด่าทอ ทะเลาะ วิวาทกัน จะทำให้ปากเน่าเหม็นเป็นอัปมงคลตลอดทั้งปี วันนี้จะไม่ดุด่า ว่าร้ายให้แก่กัน ตามประเพณีแล้ววันนี้เป็น "วันดา" คือวันที่ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆเพื่อใช้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น และตลอดทั้งวัน เด็กๆ บ่าว สาว เฒ่า แก่ จะพากันไปขนทรายที่แม่น้ำ เข้าวัด เพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย
            
เหตุที่ทางล้านนาเรียกวันนี้ว่าวันเน่า เพราะเชื่อตามวรรณกรรมที่มีการกล่าวขานกันมาว่า นานมาแล้วยังมีพญาตนหนึ่งได้ตายจากไปในวันหลังวันสังขารล่อง แล้วกลายไปเป็นเปรตหัวเน่า คนจึงเรียกวันนี้ว่าวันเน่า วรรณกรรมดังกล่าวได้แก่ธัมม์ หรือธรรมเรื่องอานิสงส์ปีใหม่ กล่าวว่า 
             
           พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระยาสุริยะครองเมืองกลิงคราษฏร์ เลี้ยงผีปีศาจไว้มากมาย ตายไปในวันหลังสังขารล่องหนึ่งวัน ไปเกิดเป็นเปรตหัวเน่าอยู่นอกฟ้าจักรวาล ครั้นภายหลังภริยาสองนางตายไปเกิดเป็นเปรตอยู่ด้วยกัน เปรตทั้งสองนางจึงช่วยกันล้างหัวเน่าของพญา จึงเรียกว่าวันนี้ว่า วันเน่า 

           คนล้านนามีความเชื่อเรื่องวันเน่าว่า ถ้าหากผู้ประสงค์จะปลูกเรือนไม้ไผ่ ให้รีบตัดไม้ภายในวันนี้ เพราะเชื่อว่าไม้จะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว
             
วันเน่าหรือวันเนานี้ บางปีจะมีสองวัน บางปีจะมีวันเดียว ส่วนมากจะมีวันเดียว ที่มีสองวันเพราะการนับวันตามแบบจันทรคตินั้น สี่ปีจะมีเดือนเดือนสิบ ๒ หนแบบไทยล้านนาครั้งหนึ่ง หรือสี่ปีจะมีเดือนแปด ๒ หนตามแบบไทยภาคกลางครั้งหนึ่ง หรืออาจเกี่ยวข้องกับการคำนวณวันเวลาตามแบบโหราศาสตร์ที่ตกทอดกันมาแต่ดั้งเดิม

ไปกาดวันเน่า


           วันนี้ตลาดเช้าของแต่ละหมู่บ้านจะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืดจะมีคนเต็มตลาด ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านชาวเมือง ที่มาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อของกินของใช้ต่างๆ นานาที่จำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่เมือง เช่น ช่อ ตุง ข้าวตอก ดอกไม้ หมากเหมี้ยง เสื้อผ้า ครัวดำหัว ผลไม้ ฯลฯ เพื่อใช้ในการทำบุญและดำหัวผู้มีพระคุณ

สมัยโบราณลูกสาวของแต่ละบ้านจะตื่นเช้าเป็นพิเศษ เพื่อมาตำข้าวแป้ง หรือโขลกแป้งข้าวเหนียวไว้ทำขนมจ็อกหรือขนมเทียน หนุ่มๆ ก็จะตื่นเช้าเป็นพิเศษเช่นกัน เพื่อถือโอกาสไปอู้สาวตำข้าว หนุ่มใดชอบสาวใด ก็จะไปยังผามมองที่สาวคนนั้น ไปตำข้าวแป้ง ผามมองหรือโรงกระเดื่องนี้ ในอดีตจะมีทุกบ้าน บางท้องถิ่นสามสี่บ้าน จะรวมกันใช้ผามมองร่วมกัน จึงเป็นโอกาสพบปะระหว่างหนุ่มสาวได้พบกัน

ขนทรายเข้าวัด


           การขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์ทราย มีคติในการกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่นก่อเป็นเจดีย์ทรายเล็กๆ เท่าจำนวนอายุ ก่อเจดีย์ทรายตามจำนวนสมาชิกในครอบครัว เมื่อก่อเสร็จ ให้นำตุงเทวดา ตุงคน ตุงไส้หมู ตุงสิบสองราศี ช่อ ข้าวตอกดอกไม้ปักประดับเป็นพุทธบูชา บางวัดก็นิยมสานเสวียนเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือทำเจดีย์ทรายขนาดใหญ่ ๙ ชั้น เรียกว่า "เจดีย์ทรายสุดซ้าว" เพราะเปรียบเทียบความสุงยาว ขนาดเท่ากับลำไม้ไผ่ที่เป็นแกนเสวียนสุงถึงปลายสุดไม้ไผ่ เจดีย์ขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ทรายจำนวนมาก ดังนั้นการทำเจดีย์ทรายสุดซ้าว จะต้องอาศัยความสามัคคีความร่วมมือจากชาวบ้าน ในชุมชนเป็นอย่างมาก

           ตำนานการขนทรายเข้าวัด มีความเป็นมากล่าวไว้ว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ทรงทอดพระเนตรเห็นทรายที่ขาวสะอาดที่ชายหาด ด้วยพระราชศรัทธาในพระรัตนตรัย จึงทรงก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์ การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร" ดังนั้นการก่อพระเจดีย์ทราย ถือว่าเป็นอุทเทสิกเจดีย์ (พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องเตือน ให้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ เช่นเดียวกับพระพุทธรูป) ถือว่าได้อานิสงส์มาก ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นคตินิยมทำสืบต่อกันมา

อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า สมัยพระพุทธเจ้าเป็นชายสามัญมีนามว่าติสสะ เป็นคนยากจนเข็ญใจ แสวงหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดฟืนขาย แต่เป็นผู้มีศีลธรรมดีเป็นที่รักของประชาชน อยู่มาวันหนึ่งติสสะเดินออกจากบ้านเข้าไปในป่า เห็นมีลำธารไหลผ่านมีหาดทรายขาวสะอาดงดงามนัก ติสสะมีจิตปสาทะอยากทำบุญ จึงได้เอาทรายมาก่อเป็นพระเจดีย์ แล้วฉีกเสื้อที่ตัวเองสวมอยู่นั้นฉีกเป็นตุงหรือธงปักลงบนยอดเจดีย์ แล้วอธิษฐานว่า "อิมินา ปุญญกมเมนา ทัง วาลุกเจติยัง กตรา สุขี อัตตานัง ปริหารันโต นิพพานะปัจจโยมันหิ เม นิจิจจัง" ด้วยอำนาจการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ ขอให้ข้าพเจ้าบริหารตนให้มีความสุขและเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเจ้าเถิด และขอให้บุญเกื้อหนุนให้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้ามาโปรดสัตว์โลก เมื่อพระโพธิสัตว์ติสสะบำเพ็ญบารมีเต็มที่แล้วตายลง ต่อมาได้เกิดเป็นพระพุทธเจ้าในยุคปัจจุบัน

ตุงปีใหม่


           ในวันเน่า คนแก่คนเฒ่า หรือผู้ที่มีฝีมือในการตัดตุง ก็จำนำกระดาษว่าวหลากสีมาตัดเป็นตุงรูปลักษณะต่างๆ เช่น ตุงไส้หมูหรือช่อพญายอ ตุงเทวดา ตุงคน ตุงสิบสองราศี ช่อนำทาน เพื่อเตรียมไว้ปักเจดีย์ทรายในวันพญาวัน ไม้ที่นิยมนำตุงไปมัดติด เช่น ต้นเขือง กิ่งไผ่ ต้นข่า ต้นกุ๊ก เป็นต้น การถวายทานตุงนี้ คนล้านนาเชื่อว่าหากเราตายไปตกอยู่ในนรกภูมิ ตุงที่เราทำถวายทานเป็นพุทธบูชานั้น จะไปกวัดแกว่งให้เราเกาะชายตุงนั้นไว้ ตุงจะนำพาเราให้รอดพ้นจากนรกอเวจี นำขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์

ในตำนานหิรัญนครเงินยางเชียงแสนกล่าวถึงการทานตุงว่า ทำให้มนุษย์สามารถหลุดพ้นจากการตกนรกไว้ว่า สิงห์กุฏฏอำมาตย์เอาธงคือตุงและหยาดน้ำ ครั้นสิ้นชีวิตต้องเสวยวิบากในนรก พญายมถือว่าได้ผลทานตุงและทานน้ำส่งกุศลให้ขึ้นสวรรค์ ยังมีเรื่องพรานฆ่าเนื้อเบื่อปลา เคยเห็นตุงพระประธานองค์ใหญ่วัดศรีโคมคำอันพายุพัดไปมาดูงามแก่ตายิ่งนัก จึงสร้างตุงผืนใหม่ถวายบูชา ครั้นตายไป ก่อนลงขุมนรกก็มีตุงที่ตนถวายทานแล้วนั้นพันกายให้พ้นจากนรก 

เมื่อตติยศักราชได้ ๙๐๖ ตัว ปีชวด อัฐศก เดือน๗ เพ็ญ มีชาวขานนำตุงรูปภาพผืนหนึ่งมาบูชาพระประธานใหญ่ พอถวายแล้วก็เอาขึ้นแขวนบนเพดาน แล้วก็พลาดตกลงมาตาย ธงผืนนั้นก็รับเอาชายผู้นั้นไปขึ้นสวรรค์ ไปปรากฏที่พระเกศแก้วจุฬามณีด้วยเหตุนี้ในช่วงประเพณีปีใหม่ ชาวล้านนาจึงมีบูชาตุงและก่อเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องด้วยอานิสงส์ดังกล่าว


พิธีลอยเคราะห์วันเน่า


เมื่อถึงวันเน่า(เนาว์)ของสงกรานต์ ปีใหม่เมืองเหนือทุกๆ ปี ถ้าท่านต้องการให้หมดเคราะห์หมดภัย ให้อยู่สุขสบายนั้น ก็ให้ทำพิธีส่งเคราะห์ลอยเคราะห์วันเน่าตามพิธีโบราณ ให้ทำในวันเน่านั้นแล ให้ทำสะตวงหยวก ๑ อัน กว้างยาว ๑ ศอกเท่ากัน แล้วให้เอาดินมาปั้นรูปต้นไม้และสัตว์ที่เป็นกำเนิดของท่านใส่ และใส่เครื่องครัว ข้าวปลาอาหาร ลูกส้มของหวาน พร้าวตาลกล้วยอ้อย ข้าวตอกดอกไม้ ช่อ ๔ ตัวปักไว้ ๔ มุมสะตวง เทียน ๔ เล่มปัก ๔ ทิศของสะตวง เมื่อถึงวันเน่าตอนเย็นๆ ก็เตรียมเครื่องบูชาไปสู่ท่าน้ำแม่ใหญ่ พร้อมแล้วให้อ่านคำโอกาสลอยเคราะห์ว่า 

           "ดูกราเจ้ากู ข้าเกิดมาเพื่อเจ้ากูแล เท่าว่าเราอยู่จิ่มกัน ภัยก็เกิดมีมาชะแล เจ้ากูจุ่งรับเอายังเคราะห์วัน เคราะห์ยาม เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์กำเนิดเกิดมา สรรพเคราะห์ทั้งมวล อันมีในตนตัวแห่งข้านี้ไปกับตนเจ้ากู แล้วจุ่งกระทำนำมา ยังวุฒิสวัสดี ลาภะ ยัสสะ สัมปัตติ อันมาก แล้วจุ่งหื้อเป็นที่ไหว้ปูชาระหะ วันทาระหะแก่คนแลเทวดาทั้งหลาย ขอหื้อผู้ข้ามีศรีทีฆาอายุมั่นยืนยาว มั่งมูลทุ่นเท้า เป็นดังจักวรรดิคหบดี แลสิมพลีเถรเจ้านั้นเสี้ยงปีนี้ทั้งมวล แก่ผู้ข้าแด่เทอะ" 

ว่า ๓ รอบแล้วเอาสะตวงเวียนแวดหัวผู้บูชานั้น๓ รอบแล้วปล่อยลอยแม่น้ำไปเสีย เอาน้ำส้มปล่อยสระหัวลงในสะตวงนั้นด้วย แล้วกลับบ้านอย่าเหลียวคืนหลัง กลับถึงบ้านเลย 

รูปต้นไม้และรูปสัตว์ที่ทำด้วยดินใส่ในสะตวงนั้น ผู้เกิดปีชวด ไม้ศรีมหาโพธิ์ รูปผีเสื้อยักษ์๑ ตัว เกิดปีฉลู ไม้บุนนาค๑ รูปหมา๑ตัว ปีขาล รูปผีเสื้อยักษ์๑ตัว ไม้ไผ่๑กอ ปีเถาะรูปไม้ชมพู๑ต้นไก่๑ตัว ปีมะโรงรูปต้นข้าว๑กอ รูปไก่๑ตัว ปีมะเส็ง รูปไม้หัด๑ต้น ผีเสื้อยักษ์๒ตัว ปีมะเมีย รูปไม้แก รูปหมา๑ตัว ปีมะแม ปีวอก ต้นไม้ทองกวาว๑ต้น หมา๑ตัว ปลา๑ตัว ปีระกา รูปไม้มะกอกรูปเสือโคร่ง๑ตัว ปีจอ รูปไม้มะตาเสือรูปเสือ๑ตัว ปีกุน รูปดอกบัว๑กอ รูปผียักษ์๑ ตัวรูปเหล่านี้ ถ้าคนที่บูชานั้นเกิดปีใดก็ ให้ทำรูปนั้นๆ วางไว้กลางสะตวง เอารูปสัตว์วางไว้พื้นของต้นไม้ คล้ายกับมาพักพึ่งอาศัยอยู่ร่มไม้นั้นแล จบลอยเคราะห์วันเน่าแล 

ความเชื่อเกี่ยวกับวันเน่า


           วันเน่าไม่ควรด่าทอ สาปแช่งหรือกล่าวคำร้ายต่อกัน ปากจะเน่าจะเหม็น เป็นอัปมงคลไปทั้งปีวันเน่าควรตัดไม้ไผ่ที่จะสร้างบ้าน มอดปลวกจะไม่มากินเชื่อว่าถ้าดุด่าลูกหลานเรื่องใด เด็กจะนิสัยแบบนั้นไปตลอดทั้งปี


พญาวัน


           พญาวัน วันที่สามของประเพณีปีใหม่เมือง ถือเป็นวันเถลิงศก เปลี่ยนศักราชเริ่มต้นปีใหม่ วันนี้มีการทำบุญทางศาสนาแต่เช้าตรู่ และอุทิศกุศลไปถึงญาติผู้ล่วงลับ เรียกว่า "ทานขันข้าว" บางแห่งว่า "ทานกวั๊ะข้าว" หลังจากนั้นนำตุงปักลงบนกองเจดีย์ทราย และคนเฒ่าคนแก่ก็อยู่ร่วมพิธีเวนทานเจดีย์ทราย ถวายช่อตุงปีใหม่ และฟังเทศนาธรรมอานิสงส์ปีใหม่ ช่วงบ่ายเป็นช่วงไปดำหัว เพื่อขอขมาคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ ไปสรงน้ำพระพุทธรูป เจดีย์ วันนี้คนล้านนาจะทัดดอกไม้นามปี เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ชีวิต เช่น พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้ทัดดอกเก็ดถว๋า (ดอกซ้อน) โดยให้เสียบที่มวยผม นอกจากนี้ ยังนิยมเริ่มต้นเรียนศาสตร์ศิลป์ต่างๆ เป็นต้นว่า มนต์คาถา สักยันต์ หรือทำพิธีสืบชะตา ขึ้นบ้านใหม่ ไหว้ครู และในหลายพื้นที่ยังมีกิจกรรมแห่ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำโพธิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระศาสนา และค้ำชูอุดหนุนให้แก่ชีวิตเจริญรุ่งเรือง

ทานขันข้าว


           การทานขันข้าว เป็นการถวายอาหารให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ อาจเป็นของที่ผู้ตายชอบทาน หรืออาหารขนมทั่วไป ใส่ในถาดหรือตะกร้าและมีซองปัจจัยเขียนคำอุทิศไว้หน้าซอง การทำบุญอุทิศไปหาผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ หากจะทานไปหาผีตายเก่าเน่านานที่ตายธรรมดา ก็จะเข้าไปถวายในวัด แต่หากผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นผีตายโหง เป็นผีตายร้าย ไม่ได้ตายดี ก็จะทานขันข้าวนอกวัด คือนิมนต์พระภิกษุหรือสามเณรออกมารับทานที่นอกกำแพงวัด เพราะถือว่าผีตายร้ายผีตายโหงและตายไม่ดีอื่นๆ เข้าไปในเขตวัดไม่ได้

ทานตุงปีใหม่


            หลังจากทานขันข้าว บ้างก็กลับบ้านนำเอาธงหรือตุงไปปักพระเจดีย์ทราย บ้างก็ให้ลูกหลานเป็นผู้นำมาปักที่กองเจดีย์ทรายตรงลานวัด บางแห่งก็นิยมนำน้ำใส่ขันสะหลุงมาบูชารดลงที่กองเจดีย์ทรายนั้นด้วย การถวายทานด้วยตุงปีใหม่นี้ มีคติว่าการทานตุงนั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ โดยหางตุงหรือชายตุงจะกวัดแกว่งไปถึงยมโลก ให้ผู้ที่ตกนรกนั้นเกาะชายตุงขึ้นสู่สวรรค์ ในการทำบุญอุทิศเจดีย์ทรายหรือทุงนั้น"ปู่อาจารย์"หรือมัคนายกจะกล่าวนำศรัทธาประชาชนไหว้พระรับศีล และอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์แบบย่อพอควรแก่เวลา จากนั้นปู่อาจารย์จะโอกาสเวนทานถวายเจดีย์ที่ศรัทธาประชาชนรวมกันสร้างขึ้น



แห่ไม้ค้ำศรี ไม้ค้ำโพธิ์


           ในวันพญาวันนี้ บางท้องที่นิยมทานไม้ค้ำศรี (ไม้ค้ำโพธิ์) ไม้ค้ำศรี(ออกเสียงว่าสะหลี)จะเป็นไม้ง่าม อาจทำมาจากไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ฉำฉา หรือไม้เนื้อแข็งแกะสลักสวยงาม จะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน และกระบอกไม้อ้อ หรือไม้ไผ่บรรจุน้ำ และทรายผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย ตรงบริเวณง่ามของไม้ก็จะมีหมอนรองไว้
เชื่อว่าจะหนุนค้ำจุนพระศาสนา ให้อยู่ยืนยาวตลอดไปตลอดห้าพันพระวัสส   การทานไม้ค้ำศรีนี้ถือคติว่า 

1. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการค้ำชูพระศาสนาให้ยาวนานต่อไป 
2. เพื่อเป็นการสืบชะตา ค้ำอายุตัวเอง และเสริมศิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่

ในบางวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่กิ่งก้านสาขามากมาย ได้โอกาสนี้ใช้ไม้ค้ำโพธิ์ยึดค้ำกิ่งก้านสาขาไว้ไม่ให้โน้มลงมาจนกิ่งหักได้



ดำหัวคนเฒ่าคนแก่


           ตอนบ่ายของวันพญาวันนี้ บางที่บางแห่งก็จะมีการไปดำหัวหรือคารวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติพี่น้อง ผู้มีอาวุโส ผู้มีบุญคุณ หรือผู้ที่มีความเคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษหรือภาษาล้านนาเรียกว่า "ไปสุมา คราวะ" เนื่องจากในปีที่ผ่านมาอาจทำให้ท่านโกรธเคือง หรือได้ล่วงล้ำด้วยกาย วาจา ใจ ก็ไปขอขมา และขอพรปีใหม่ เครื่องอุปโภคบริโภคที่นำไปดำหัว ได้แก่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเมือง ผ้านุ่ง เช่น เสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว มีขนมอาหารที่ทำในช่วงปีใหม่ เช่น ข้าวแตน ข้าวหนมจ็อก แหนม ห่อนึ่ง เป็นต้น ผลไม้ที่ออกมากในช่วงปีใหม่ก็จะมีมะปรางซึ่งจะใส่ในชะลอมสานไว้อย่างงดงาม นอกจากนั้นก็จะมีหมากพลู และปัจจัยใส่ในซองจดหมายแล้วแต่ความสมควร



ดำหัวพระเจ้า/พระธาตุเจดีย์


           ดำหัวพระเจ้า คือการไปแสดงความคารวะต่อพระพุทธรูปที่สำคัญประจำเมือง เช่น พระเสตังคมณีหรือพระแก้วขาววัดเชียงมั่น พระพุทธสิหิงค์และพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดพระสิงค์ พระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอก เป็นต้น หรือพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุศรีจอมทอง 

การไปดำหัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอดีตนิยมไปกันเป็นหมู่คณะ อาจจะเริ่มต้นในวันสังขานต์ล่องเรื่อยไปจนถึงวันปากปี ปากเดือน ปากวัน ปากยาม เพราะสถานที่แต่ละแห่งอาจจะอยู่ไกลกัน ต้องใช้เวลาเดินทาง การดำหัวก็จะใช้ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนบูชา และสรงด้วยน้ำขมิ้นส้มปล่อย

ดำหัวกู่(อัฐิ)


           การดำหัวกู่ คือไปดำหัวที่บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษที่อยู่ในวัดหรือป่าช้า หรือกู่อัฐิของบรรพกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครที่ได้ทำคุณงามความดีไว้กับบ้านเมือง เช่นกู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอก ผู้ที่เป็นลูกหลานก็จะนำดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มปล่อยไปสรงเพื่อเป็นการสักการะบูชาดำหัวในช่วงปีใหม่



วันปากปี


วันปากปี๋ วันที่สี่ของประเพณีปีใหม่ จัดว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นวันแรกของปี วันนี้คนล้านนาจะกินแกงขนุนกันทุกครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะหนุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า ช่วงสายๆชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่ใจบ้าน เพื่อทำบุญเสาใจบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บางแห่งอาจจะต่อด้วยพิธีสืบชะตาหมู่บ้าน และพากันไปขมาคารวะ ดำหัว พระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ ในตอนค่ำของวันนี้จะมีการบูชาเทียน สืบชะตา ลดเคราะห์ รับโชค เพื่อให้เกิดความเป็นมงคลแก่ครอบครัว

กินแกงขนุน


           ในวันปากปีมีความเชื่อของคนล้านนาอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ทุกหลังคาเรือนจะมีการทำอาหารที่เหมือนกันเกือบทุกบ้าน คือการทำแกงขนุน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "แก๋งบ่าหนุน" โดยเชื่อกันว่า เมื่อได้ทานแกงดังกล่าวจะช่วยส่งหนุนให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ประกอบกิจการงานใดก็สำเร็จผล มีคนมาอุดหนุนค้ำจุนอีกทั้ง เกิดสิริมงคลในครอบครัว ทั้งนี้เหตุผลของการทานแกงขนุนดังกล่าว อาจจะมาจากชื่อขนุน ที่มีความหมายถึงการเกื้อหนุน ค้ำจุน ครอบครัวให้เจริญรุ่งเรืองหรือตลอดปีของคนล้านนา

ชาข้าวลดเคราะห์


           ในช่วงเช้าของวันปากปี พิธีกรรมจะเริ่มต้นที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งเรียกว่า การบูชาข้าวลดเคราะห์ เป็นการนำเอาข้าวมาปั้นเป็นก้อน จำนวน ๙ ก้อนหรือตามอายุของแต่ละบุคคล ต่อจากนั้นนำไปถวายแด่พระประธานและพระสงฆ์ในพระวิหาร ซึ่งบางแห่งเรียกพิธีกรรมนี้ว่า การบูชาเคราะห์ปีใหม่ หรือ บูชาสระเคราะห์ ในบางชุมชนหรือบางหมู่บ้านจะกระทำกันที่บ้านเรือนของตน โดยมีปู่อาจารย์จะมาทำพิธีให้ที่บ้าน ซึ่งเป็นอันเสร็จพิธีช่วงเช้าของวันปากปี

ส่งเคราะห์บ้าน



           พิธีส่งเคราะห์บ้าน เป็นพิธีทำบุญเสาใจบ้าน ใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาใจบ้าน หรือสะดือบ้าน ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน จะมีหลักไม้จำนวน ๕ ต้น บางแห่งมีหอพ่อบ้าน หรือต้นไม้ใหญ่เป็นสัญลักษณ์ เสาใจบ้านเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ที่สิงสถิตของเหล่าเทพยาดาอารักษ์พิธีการจะประกอบด้วย การจัดทำรั้วราชวัตร ประดับด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อยและอื่นๆ อย่างสวยงาม แล้วเตรียมอาสน์สงฆ์ไว้ด้วย จากนั้นให้โยง ฝ้ายล้วงหรือด้ายสายสิญจน์จากเสาใจบ้านต่อ ๆ กันทุกหลังคาเรือน และจะทำแตะไม้ไผ่สานขนาด ๙๐ X ๙๐ เซนติเมตรจำนวน ๙ แผง แล้วใช้ดินเหนียว หรือแป้งข้าว ปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น อย่างละ ๑๐๐ ตัว วางบนแตะนั้น พร้อมทั้งใส่เครื่องบูชาต่าง ๆ อันประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน ผลไม้ต่าง ๆ กล้วย อ้อย หมาก พลู เมี่ยง บุหรี่ และให้ใช้ไม้ทำ หอกดาบแหลนหลาวหน้าไม้ปืนธนู วางบนแตะทั้ง ๙ นั้นเพื่อเตรียมทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน หรือพิธีส่งนพเคราะห์ทั้ง ๙ ซึ่งบางทัศนะคติของชาวล้านนาได้ให้ความหมายว่า เป็นการส่งให้แก่ท้าวเวสสุวัณณ์ ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในหมู่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย และเป็นท้าวโลกบาลผู้หนึ่งซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลรักษาโลกให้เป็นปรกติสุข

หลังจากนั้นในช่วงเวลาประมาณ ๑๐:๐๐ น. ชาวบ้านก็จะเริ่มทยอยเข้ามาสู่บริเวณปะรำพิธี ซึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน หรือใจบ้านในภาษาล้านนา เพื่อร่วมประกอบพิธีดังกล่าว โดยพิธีจะเริ่มที่แต่ละครอบครัว จะนำเอาเสื้อผ้าของสมาชิกทุกคนในครอบครัว และทรายกลางแม่น้ำมารวมไว้ตรงกลางปะรำพิธี พร้อมกับนำข้าวปลาอาหาร ขนมนมเนยที่เตรียมมาจากบ้าน มาใส่ไว้ในแตะทั้ง๙ แตะที่เตรียมไว้อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้าน คือ แต่ละบ้านหรือแต่ละครอบครัวจะโยงด้ายสายสิญจน์ไปรอบ ๆ บ้าน แล้วเอาไปผูกเชื่อมต่อกับบ้านใกล้เรือนเคียง โดยพิธีกรรมการส่งเคราะห์บ้านจะเริ่มจากปู่อาจารย์ จะทำการกล่าวโอกาสส่งเคราะห์ในแต่ละทิศ โดยการนำแตะไม้ไผ่ที่ประกอบไปด้วยเครื่องพลีกรรมต่างๆ ไปวางไว้ในแต่ละทิศจนครบทั้ง๘ ทิศและอีกหนึ่งแตะจะนำมาวางไว้ที่กลางปะรำพิธี จากนั้นปู่อาจารย์ก็จะเริ่มพิธีการส่งเคราะห์

สืบชะตาหมู่บ้าน


           หลังจากเสร็จสิ้นพิธีส่งเคราะห์บ้าน ต่อมาก็จะเป็นการสืบชะตาหมู่บ้าน โดยพิธีจะเริ่มที่ผู้นำหมู่บ้านจะทำการอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์สามเณรจำนวน ๕ รูป ๗ รูปหรือ ๙ รูป(ตามแต่หมู่บ้านดังกล่าวนั้นจะมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษามากน้อยเพียงใด) เพื่อมาเจริญพุทธมนต์ซึ่งก่อนหน้าพิธีกรรมดังกล่าวปู่อาจารย์จะกระทำการขึ้นท้าวทั้งสี่ เพื่อเป็นสัญญาณให้ท้าวจตุโลกบาล รับรู้ถึงพิธีกรรมดังกล่าว อีกทั้งช่วยคุ้มครองการทำพิธีกรรมดังกล่าว ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งพิธีกรรมการขึ้นท้าวทั้งสี่ จะเป็นพิธีที่ต้องกระทำไม่ว่าจะเป็นงานมงคลหรืออวมงคลของคนล้านนา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากนั้นเมื่อพระสงฆ์มาถึงปะรำพิธีที่ประกอบพิธีกรรม ปู่อาจารย์ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นนั่งบนอาสนะที่เตรียมไว้ โดยปู่อาจารย์จะเริ่มนำกล่าวไหว้พระสวดมนต์ พร้อมทั้งขอศีล จากนั้นปู่อาจารย์จะกล่าวอาราธนาพระปริตรเพื่อที่พระสงฆ์จะได้เริ่มสวดพุทธมนต์ โดยปู่อาจารย์จะนำด้ายสายสิญจน์ ที่โยงมาจากแต่ละบ้านและโยงมาจากกองเสื้อผ้า และกะละมังที่บรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อยให้แก่พระสงฆ์ผู้ทำพิธี มีการประเคนบาตรน้ำพุทธมนต์แก่พระสงฆ์รูปแรกผู้เป็นประธานสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะเจริญพุทธมนต์ เสร็จแล้วชาวบ้านจะถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ พร้อมทั้งพระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาพิธีเป็นอันเสร็จพิธีหลังจากพิธีส่งเคราะห์บ้านและสืบชะตาบ้านเสร็จสิ้น บรรดาชาวบ้านผู้มาร่วมพิธีจะแบ่งน้ำขมิ้นส้มปล่อย ที่พระสงฆ์ทำการเจริญพุทธมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเอาเสื้อผ้าของตนพร้อมกับทรายกลางน้ำกลับบ้าน โดยนำทรายดังกล่าวไปหว่านบริเวณรอบๆ บ้านด้วยความเชื่อที่ว่า สามารถป้องกันภูตผีปีศาจและเป็นสิริมงคลแก่บ้านเรือนของตน ในส่วนของน้ำขมิ้นส้มปล่อย จะนำมาสรงน้ำพระบนหิ้งพระของตน ตลอดจนนำไปประพรมให้แก่ลูกหลาน ที่ไม่ได้ไปร่วมพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้านดังกล่าว ถือเป็นอันเสร็จพิธีส่งเคราะห์ และสืบชะตาบ้านในวันปากปีของล้านนา

บูชาเทียนปีใหม่


           ในช่วงค่ำ จะเป็นพิธีกรรมในส่วนของครอบครัวที่จะกระทำกันในบ้านเรือนของตน พิธีกรรมดังกล่าวคือ การจุดเทียนบูชาบ้านเรือนหรือคนล้านนาเรียกว่า ต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้าโดยเทียนดังกล่าวจะมีอยู่สามเล่ม คือ เทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บางท้องถิ่นจะมีการ "ต๋ามขี้สายเท่าอายุ" (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ) ขี้สายหรือเส้นไฟนี้จะทำมาจากเส้นด้ายพื้นเมือง นำไปชุบขี้ผึ้งหรือไขมัน หรือน้ำมันมะพร้าว ปัจจุบันนิยมชุบน้ำมันพืชที่ใช้ในครัวเพราะง่ายดี พอค่ำลง ก็จะเอาขี้สายเท่าอายุไปจุดบูชาที่ลานพระธาตุเจดีย์ในวัด หรืออาจจุดที่ลานทรายหน้าพระวิหาร ตรงที่สายตาพระเจ้าตก หรืออาจจุดที่ลานบ้านของตัวเองก็ได้ การต๋ามขี้สายเท่าอายุนี้ บางท่านก็ว่า เป็นการเผาอายุสังขารเก่าให้พ้นไป บางท่านก็ว่าเป็นการเผาเสนียดจัญไร อุบาทว์ อาถรรพณ์ ขึดขวงต่างๆ ที่ติดตัวเรามาให้หมดสิ้นไป บางท้องถิ่นก็ให้เพิ่มขี้สายไปอีกเส้นหนึ่ง ถือว่าเป็นการสืบชะตาตัวเรา ให้รุ่งเรืองรุ่งโรจน์ประดุจเปลวไฟในปีใหม่ที่มาถึงนี้




วันปากเดือน วันปากวัน และวันปากยาม


           หลังจากจบสิ้นวันปากปี คนล้านนายังมีวันปากเดือน วันปากวัน และวันปากยาม เพื่อให้เวลาเดินทางไปสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ หรือเดินทางไปดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกล และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในช่วงปีใหม่ เป็นช่วงที่หยุดจากภาระหน้าที่การงาน 

ช่วงนี้พระสงฆ์ สามเณร จะพากันไปดำหัวพระเถระผู้ใหญ่ตามวัดต่างๆ พร้อมคณะศรัทธา อาจจะเดินไปกันเป็นหมู่คณะ หรือนั่งรถไปในที่ไกลๆ โดยมีของดำหัวและน้ำส้มปล่อยใส่สะหลุงไปสุมาคารวะในหัววัดต่างๆ คนล้านนาเรียกว่า "หัววัดเติงกัน" คือวัดที่มีความสัมพันธ์และเคารพนับถือกัน




เพลง ปี๋ใหม่เมือง
คำร้อง/ทำนอง/ศิลปิน : คำหล้า ธัญยพร

ช.เดือนเมษาต๋าวันส่องแสงจ้า หมู่เฮามาเล่นน้ำสงกรานต์
ญ.ป๋าเวณีเฮานี้มีมาเนิ่นนาน ฮ่วมสนุกสุขสราญแอ่วสงกรานต์เมืองเหนือล้า­นนา
...ฮืม...เจิญเน้อ เจิญมา ม่วนงันเฮฮา ฮั๊บป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง

ช.ปี๋ใหม่เมืองเฮาคนเมืองฮ่วมใจ ก่อเจดีย์ทรายแต่งกายปื้นเมือง
ญ.แห่สลุงตุงไจยฮั๊บปี๋ใหม่เมือง สรงน้ำพระหื้อเฮารุ่งเรือง
ฮั๊บปี๋ใหม่เมืองฮอดเติงมา...ฮืม... จุมหมู่ลานนา
ปี๋ใหม่แก้วพญา จ้อยซอแว่วมาม๋วนใจ๋

ช.จ้อตุงไจย ปิ๋วไสวโบกมา ปี๋เก่าลา ฮั๊บฟ้าปี๋ใหม่
ญ. ฮ่วมทำบุญเกื้อหนุนหื้อโจคหื้อจัยดำหัวป้อ­แม่สุขใจ๋ 
ฮั๊บปอนปี๋ใหม่ปั้นมา...ฮืม...ปอนเทพเตวา
 เปิ้นปั๋นปอนมา ปกปั๊กฮั๊กษา หมู่เฮา

ช.ลูกจาวเหนือเฮาฮั๊กเครือหมู่เฮา ฮีตบ่าเก่าหมู่เฮาเฝ้ากอย
ญ.ดอกลมแล้ง ดอกแก้ว ดอกคำฝอย เอื้องคำเบ่งบานบนดอย
ขมิ้นส้มป่อยจุ๋มใจ๋..ฮืม...ปี๋ใหม่เมือง ฮีตเก่าคนเมือง
นี่แหละเมืองเหนือ...บ้าน...เฮา



เนื้อเพลง ปี๋ใหม่เมือง

ปี๋ใหม่เมืองเฮากะมาถึงแล้วน่อ
ดำหัวแม่ป้อป้าลุงอุ้ยเฮาดีกว่า
ประเพณีบะเก่าของเฮาสืบมา
เข้าวัดเข้าวาตักบาตรทำบุญ
ก๋ำสะหลุงใส่ข้าวตอกดอกไม้
ฮื้อเปิ้นได้จื่นใจ๋ตี้หมู่เฮาฮู้คุณ
เตวะบุตรเตวะดาเปิ้นมาอุดหนุน
อันก๋านทำบุญตึงบ่อมีวันปุ๊ดตึน

*เปิ้นปั๋นปอน เฮาก่อยกมือไหว้
เย็นอ๊กเย็นใจ๋อายุมั่นขวัญยืน
อยู่ดีกิ๋นดี ตึงยามนอนยามตื่น
ใจ๋บานใจ๋จื่นปันใหญ่ปันสูง
ปี๋ใหม่เมืองเฮาก่อมาถึงแฮ๋มแล้ว
งามตึงดอกแก้ว งามตึงดอกหางนกยูง
ชุดผ้าเมืองเฮาก่อปากั๋นนุ่ง
ก๋ำขันสะหลุงน้ำส้มป่อยไปดำหัว

(ซ้ำ*)
ก๋ำขันสะหลุงน้ำส้มป่อยไปดำหัว







แหล่งข้อมูลอ้างอิง http://library.cmu.ac.th/ntic/knowledge_show.php?docid=10