วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตำนานรัก ‘เจ้าชายสยาม’ กับ ‘เจ้าหญิงล้านนา’ (ประวัติเพลงลาวดวงเดือน)



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
และ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์" เป็นผู้พระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชนมายุ 20 พรรษา กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า "วงพระองค์เพ็ญ" พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ



ใน พ.ศ. ๒๔๔๖ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษมาใหม่ ได้ทรงเสด็จขึ้นไปเที่ยวนครเชียงใหม่อันเป็นนครแห่งศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาสมัยนั้น สมัยนั้น พระยานริศราชกิจเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำมลฑลพายัพ ได้จัดการรับเสด็จต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงค์อย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยะวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้จัดการรับเสด็จอย่างประเพณีชาวเหนือโดยแท้ โดยให้ประทับในคุ้มหลวงและเสวยพระกระยาหารแบบขันโตก มีการแสดงละครและดนตรีในคุ้มนี้ด้วย

ในงานต้อนรับเสด็จครั้งนี้ เจ้าอินทวโรรสและเจ้าแม่ทิพยเนตรได้ชวนเชิญเจ้าพี่เจ้าน้อง และพระญาติวงศ์มาร่วมรับเสด็จโดยพร้อมเพรียงกัน ในบรรดาพระญาติวงศ์เจ้านายเชียงใหม่ ปรากฎว่ามีเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าหญิงคำย่น พร้อมด้วยธิดาองค์โต นามว่า เจ้าหญิงชมชื่น อายุเพิ่งย่างเข้า ๑๖ ปี มาร่วมในงานนี้ด้วย

เล่ากันว่าเจ้าหญิงชมชื่นมีผิวพรรณผุดผ่องเป็นนวลใย ใบหน้าอิ่มเอิบเปล่งปลั่งดุจพระจันทร์วันเพ็ญ มีเลือดฝาดขึ้นบนใบหน้า จนแก้มเป็นสีชมพู เพราะผิวขาวประดุจงาช้างอยู่แล้ว อีกทั้งเจ้าหญิงชมชื่นเป็นกุลสตรีที่เรียบร้อยอ่อนหวานน่ารัก เจรจาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ ด้วยความงามอันน่าพิศวง ประกอบกับความน่ารักนุ่มนวลละมุนละไมจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เจ้าชายหนุ่มอายุ ๒๑ ปี บังเกิดความสนพระทัยในดรุณีแน่งน้อย อายุ ๑๖ ปีนี้มาก

กล่าวกันว่า พระองค์เมื่อได้เห็นเจ้าหญิงชมชื่นก็ถึงกับทรงตะลึง ในความงามอันน่าพิศวงจนเกิดความพิสมัยขึ้นในพระทัยเหมือนกับชายหนุ่มพบคนรักครั้งแรก ในวันต่อมา พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงมลฑลพายัพ เป็นผู้นำพระองค์ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้มหน้าวัดบ้านปิง เจ้าหญิงชมชื่นได้มีโอกาสต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักเรียนนอกผู้สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษพระองค์นี้หลายครั้งหลายหน

นานวันเข้าพระองค์เจ้าชายเพ็ญก็ยิ่งเกิดความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงชมชื่นเป็นยิ่งนัก พระองค์จึงโปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่น ให้เป็นหม่อมของพระองค์ แต่การเจรจาสู่ขอกลับได้รับการทัดทานจากเจ้าราชสัมพันธวงศ์ โดยขอผัดผ่อนให้ เจ้าหญิงชมชื่นอายุครบ ๑๘ ปี เสียก่อน

และตามขนบธรรมเนียมประเพณีของราชสกุลนั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการอภิเษกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์เสียก่อน เพื่อได้รับเป็นสะใภ้หลวงได้รับยศและตำแหน่งตามฐานะ หากถวายเจ้าหญิงชมชื่นให้ในตอนนี้ เจ้าหญิงก็จะตกอยู่ในฐานะภรรยาน้อยหรือนางบำเรอเท่านั้น เฒ่าแก่ข้าหลวงใหญ่ยอมจำนนต่อเหตุผลของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ นำความผิดหวังกลับมาทูลให้พระองค์ชายทราบ

พระองค์ชายก็ได้รับความผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เพราะเมื่อจะมีรักครั้งแรกทั้งทีก็มีกรรมบันดาล ขัดขวางไม่ให้รักสมหวัง ไม่ได้เชยชมสมใจ ความทุกข์โศกใดจะเทียมเทียบเปรียบปาน เมื่อผิดหวังก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ ด้วยความร้าวรานพระทัย คงปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความรักและความหลังของพระองค์ ครั้นถึงกรุงเทพฯ เรื่องการสู่ขอเจ้าหญิงเมืองเหนือได้แพร่สะพัดไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด เจ้านายชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ทรงทัดทานอย่างหนักหน่วง โดยอ้างเหตุผลต่างต่าง นานา

เป็นอันว่า ความรักของพระองค์ประสบความผิดหวังอย่างสิ้นเชิงทุกประการ คราใดสายลมเหนือพัดมา... พระองค์ชายของเราก็แสนเศร้ารันทดใจครานั้น... เศร้าขึ้นมาคราใด พระองค์เจ้าชายเพ็ญพัฒนพงศ์ ก็เสด็จไปฟังดนตรีตามวังเจ้านายต่างๆ ทั้ง วังสมเด็จ วังบูรพา และวังบางขุนพรหม ทุกครั้งที่ทรงสดับดนตรีและทรงดนตรีพระองค์จะโปรดเพลง ลาวเจริญศรี เป็นพิเศษ เพราะเป็นเพลงที่นอกจากจะมีความไพเราะอ่อนหวานแล้ว ยังมีบทร้องที่ว่า

อายุเยาวเรศรุ่นเจริญศรี
พระเพื่อนพี่แพงน้องสองสมร
งามทรงงามองค์อ่อนซ้อน
ดังอัปสรหยาดฟ้าลงมาเอย



บทร้องนี้ ทำให้พระองค์หวนรำลึกถึงโฉมอันงามพิลาส ของเจ้าหญิงชมชื่นผู้เป็นที่รัก พระองค์จึงทรงระบายความรัก ความอาลัยของพระองค์ ลงในพระนิพนธ์บทร้อง ลาวดวงเดือน เพื่อเป็นที่ระลึกถึง 
เจ้าหญิงผู้เป็นเจ้าหัวใจ ดังนี้...

โอ้ละหนอ... ดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า รักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอ ข้อยขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วง รักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้ว เจ้าแก้วโกสุมภ์ ข้อยนี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียม เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครัน หอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย....เอ๋ย..เราละหนอ

โอ้ละหนอ นวลตาเอย ข้อยนี้รัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกอาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรม เริดร้างเวหา ข้อยเบิ่งดูฟ้า (ละหนอ) เห็นมืดมน
พี่จะทนทุกข์...ทุกข์ทน เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขาน มันหวานเจื้อยแจ้ว ช่างหวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
ถึงจะหวาน เสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่เหมือนทรามเชย...เราละหนอ...

นี่เอง เป็นเครื่องผ่อนคลายอารมณ์เศร้าของพระองค์ เป็นอนุสรณ์เตือนจิตให้สะท้อนรัญจวน หวนคำนึงรำลึกถึงโฉมงามของเจ้าหญิง ความรัก-ความหลัง คราใดที่ทรงรำลึกถึงเจ้าหญิงชมชื่น พระองค์ก็ทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องปลอบหฤทัยให้คลายเศร้า ถ้าไม่ทรงดนตรีเองก็ให้มหาดเล็กข้าหลวงเล่นให้ฟังด้วย ลาวเจริญศรี และลาวดวงเดือน ซึ่งขาดไม่ได้ตลอดชีวิตของพระองค์ท่าน

กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ทรงมีพระชนมายุน้อยมาก เนื่องจากทรงมีอารมณ์อ่อนไหวละเอียดอ่อน และประกอบกับพระวรกายไม่ค่อยสมบูรณ์แข็งแรงเท่าไรนัก อีกทั้งทรงหมกมุ่นกับหน้าที่การงานเพื่อจะให้ลืมความหลังอันแสนเศร้าของพระองค์ที่ฝังใจอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระชนม์ชีพของพระองค์สั้นจนเกินไป พระองค์ด่วนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชันษา ๒๘ ปีเท่านั้น

เพลงลาวดวงเดือน เพลงนี้ เป็นหลักฐานปรากฏผลงานการแต่งเพลงของพระองค์เพียงเพลงเดียวเท่านั้น เพราะไม่สามารถสืบทราบได้ว่าพระองค์ทรงแต่งเพลงใดขึ้นมาอีกหรือไม่ แม้ว่าจะทรงแต่งเพียงเพลงเดียว ลาวดวงเดือน ก็ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่พระองค์ทรงประพันธ์ด้วยชีวิต จิตใจ และวิญญาณ ความรัก ความหลัง ของพระองค์ทั้งหมดลงในเพลงนี้

เพลงลาวดวงเดือน เป็นเพลงอันประดุจอนุสรณ์แห่งความรักอมตะระหว่าง... พระองค์เจ้าชายเพ็ญกับเจ้าหญิงชมชื่นผู้เลอโฉม และจะเป็นเพลงรักหวานซาบซึ้งตรึงใจ อยู่ในห้วงหัวใจคนไทยทั้งชาติ ต่อไปอีกนานเท่านาน...

จริงๆ แล้ว กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดมทรงตั้งชื่อเพลงว่า ลาวดำเนินเกวียน เนื่องจากระหว่างเสด็จไปราชการตามหัวเมืองสมัยนั้นก็ค่อนข้างลำบาก เพราะทางรถไฟยังไปไม่ทั่วถึง มีแต่ทางเกวียนเป็น 
ส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากบทร้องพระนิพนธ์ขึ้นต้นว่า " โอ้ละหนอดวงเดือนเอย" และตอนที่จบท่อนก็มักจะมีคำว่า "ดวงเดือน"ก็เลยเป็นที่จดจำกันถึงคำนี้มากกว่าชื่อแท้จริงของเพลง และยังฟังไพเราะเหมาะสมกับทำนองและเนื้อร้องมากกว่า ก็เลยกลายเป็น ลาวดวงเดือน อย่างที่รู้จักกันทุกวันนี้




เนื้อเพลง ลาวดวงเดือน
ผู้ขับร้อง ดวงพร ผาสุข

โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม (เอื้อน) พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย (ซ้ำ)

หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย (ซ้ำ)
หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชยเอยเราละเหนอ