เวียงกุมกาม
เมื่อกว่า 700 ปีก่อน พญามังราย กษัตริย์แห่งโยนกนคร ผู้สืบเชื้อสายมาจากลวจักราช ได้แผ่อำนาจมายังลุ่มแม่น้ำกกและเข้ายึดครองเมืองหริภุญไชย อันเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดีเป็นศูนย์กลางการค้าและความเจริญ แต่แล้วในปี พ.ศ.1837 ก็ทรงย้ายไปสถาปนา เวียงกุมกาม ในบริเวณที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำปิง(สายเดิม) ให้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนา
การสถาปนา
หลังจากที่พญามังรายได้ปกครองและพำนักอยู่ในนครหริภุญชัย (ลำพูน) อยู่ 2 ปี พระองค์ทรงศึกษาสิ่งหลายๆอย่าง และมีพระราชดำริที่จะลองสร้างเมืองขึ้น เมืองนั้นก็คือ เวียงกุมกาม แต่พระองค์ก็ทรงสร้างไม่สำเร็จ เพราะเวียงนั้นมีน้ำท่วมอยู่ทุกปี จนพญามังรายจึงทรงต้องไปปรึกษาพระสหาย คือพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา หลังจากทรงปรึกษากันแล้วจึงทรงตัดสินใจไปหาที่สร้างเมืองใหม่ ในที่สุดจึงได้พื้นที่นครพิงค์เชียงใหม่เป็นเมืองใหม่ และ เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาต่อมา จึงสรุปได้ว่าเวียงกุมกามนั้น เป็นเมืองที่ทดลองสร้าง
การล่มสลาย
เวียงกุมกามล่มสลายลงเพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101 - 2317 ซึ่งตรงกับสมัยพม่าปกครองล้านนา พม่าปกครองล้านนาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่กล่าวถึงเวียงกุมกามทั้งๆที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้เป็นเรื่องร้ายแรงมากและสมควรที่จะบันทึกไว้ แต่ก็ไม่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ใดเลย ผลของการเกิดน้ำท่วมนี้ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินจนยากที่จะฟื้นฟูกลับมา สภาพวัดต่างๆ และโบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงซากวิหารและเจดีย์ร้างที่จมอยู่ดินในระดับความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 1.50 -2.00 เมตร โดยวัดที่จมดินลึกที่สุดคือวัดอีค่าง รองลงมาคือ วัดปู่เปี้ย และวัดกู่ป่าด้อม
การขุดค้นพบ
ในปี พ.ศ. 2527 เรื่องราวของเวียงกุมกามก็เริ่มเป็นที่สนใจของนักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ทำให้หน่วยศิลปากรที่ 4 ขุดแต่งบูรณะวัดร้าง (ขุดแต่งวิหารกานโถม ณ วัดช้างค้ำ) และบริเวณโดยรอบเวียงกุมกามอย่างต่อเนื่องจนถึง พ.ศ. 2545 ปัจจุบันเวียงกุมกามก็ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเวียงกุมกามมีความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งความรู้การศึกษาในแบบของเรื่องราวทางสถาปัตยกรรมและ ศิลปกรรมตลอดจนวัฒนธรรมล้านาต่าง ๆ โดยศูนย์กลางของการนำเที่ยวชมโบราณสถานต่างๆ ในเขตเวียงกุมกามอยู่ที่วัดช้างค้ำ
ที่ตั้ง และ ลักษณะ
เวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ดังนั้นในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เชื่อกันว่าเนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำดั่งเช่นปัจจุบัน
ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำดังกล่าวคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 23 การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำครั้งนั้น ทำให้เกิดน้ำท่วมเวียงกุมกามครั้งใหญ่จนเวียงกุมกามล่มสลาย และวัดวาอารามจมอยู่ใต้ดินทราย จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า อีกหนึ่งสมมติฐานที่เวียงกุมกามถูกทิ้งร้างนั้นอาจเป็นได้ว่าเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่าทำให้ผู้คนหลบหนีออกจากเมืองไปก็เป็นได้
ปัจจุบันเวียงกุมกามอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณ ก.ม. 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ด้านขวามือ ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง
สภาพทั่วไปทางภูมิศาสตร์ของเวียงกุมกามตั้งอยู่บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน มีแม่น้ำปิงเป็นแม่น้ำสายสำคัญ โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ดอยถ้วย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณแอ่งที่ราบแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนบน เป็นที่ราบระหว่างภูเขา มีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนรวม 13 อำเภอ (โดย 10 อำเภออยู่ในจังหวัดเชียใหม่คือ แม่แตง แม่ริม สันทราย ดอยสะเก็ด สันกำแพง เมือง สารภี หางดง สันป่าตอง และจอมทอง และอีก 3 อำเภออยู่ในจังหวัดลำพูนคือ เมือง (ลำพูน) ป่าซาง และบ้านโฮ่ง) โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 940,000 ไร่
เวียงกุมกาม
แหล่งข้อมูลอ้างอิง http://travel.sanook.com/579211/