วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คุ้ม

คำว่า “คุ้ม” ในภาษาล้านนาหมายถึง ที่ประทับของกษัตริย์และที่อยู่ของเจ้านายในล้านนา

คุ้มในเวียงเชียงใหม่

จาการสำรวจคุ้มในเวียงเชียงใหม่ของผู้เขียนเมื่อ พ.ศ. 2537 พบว่ามีคุ้มที่พอสืบประวัติได้จำนวนประมาณ 25 คุ้มและส่วนใหญ่อู่ในเขตกำแพงชั้นใน (ดูสมโชติ อ๋องสกุล “หอคำและคุ้มในนครเชียงใหม่” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 ก.ค.-ก.ย.2539 หน้า 89-98)

คุ้มดังกล่าวแบ่งได้ดังนี้
(1) คุ้มที่ยังคงได้รับการดูแลรักษาโดยทายาท เช่น คุ้มแจ่งหัวลิน (รินแก้ว) คุ้มราชสัมพันธ์วงศ์ (สิงห์แก้ว) คุ้มบุรีรัตน์ (เจ้าหน่อเมือง)
(2) คุ้มที่ทายาทขายผู้อื่นแล้วและยังคงได้รับการดูแลรักษา เช่น คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) คุ้มเจ้าบุรีรัตน์(เจ้าแก้วมุงเมือง) คุ้มเจ้าอุปราชสุริยะวงศ์ คุ้มเจดีย์งาม คุ้มเจ้าวงศ์ตะวัน ฯลฯ
(3) คุ้มที่ทายาทรื้อถวายวัดเช่นพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงองค์ที่ 7 (พ.ศ. 2413-2440) ให้รื้อคุ้มหลวงกลางเวียงของพระเจ้ากาวิโลรสฯ เจ้าหลวงองค์ที่ 6 (พ.ศ.2399-2413) ถวายวัดกิตติ ให้รื้อคุ้มหลวงของพระเจ้ามโหตรประเทศเจ้าหลวงองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2390-2397) ถวายวัดพันเตา
(4) คุ้มที่ทายาทมอบให้ทางราชการแล้วถูกรื้อเหลือแต่บริเวณเช่นบริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย บริเวณศาลแขวง บริเวณวิทยาลัยอาชีวศึกษา บริเวณที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ฯลฯ
(5) คุ้มที่ทายาทขายผู้อื่นแล้วถูกรื้อไปเหลือแต่รูปภาพ เช่น คุ้มริมปิงของเจ้าแก้วนวรัฐ
(6) คุ้มที่มีแต่ภาพคือคุ้มเวียงแก้วซึ่งเข้าใจว่าเดิมตั้งที่บริเวณเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิง

แต่ละคุ้มของเจ้านายระดับเจ้าขัน 5 ใบคือ
(1) เจ้าหลวง
(2) เจ้าอุปราช
(3) เจ้าราชวงศ์
(4) เจ้าราชบุตร
(5) เจ้าบุรีรัตน์

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)



คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ พ.ศ. 2554


คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ถือเป็นคุ้มเจ้าเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ในนครเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2461 ขณะที่เจ้าแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่ง เจ้าบุรีรัตน์ ในสมัยเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 

ปัจจุบันคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) เป็นของโรงงาน ยาสูบ ซึ่งกำลังปรับปรุงเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูบ เก็บรวบรวมวัสดุครุภัณฑ์รวมถึงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณที่มีอายุกว่า 84 ปีให้ผู้สนใจเข้าชม 

หากจะกล่าวถึงความสำคัญของเจ้าบุรีรัตน์ ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ตำแหน่งหนึ่งในห้าของเจ้าศักดินา "ขันห้าใบ" ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญในการปกครองนครเชียงใหม่แต่ครั้งโบราณ ตำแหน่งเจ้าศักดินาขันห้าใบนี้ ประกอบด้วย เจ้าผู้ครองนครเป็นอันดับหนึ่ง เจ้าอุปราช เป็นอันดับสอง เจ้าราชวงศ์เป็นอันดับสาม เจ้าบุรีรัตน์เป็นอันดับสี่และเจ้าราชบุตรเป็นอันดับห้า อย่างไร ก็ตามตำแหน่งสำคัญทางการปกครองนี้มีการเปลี่ยน แปลงตามความเหมาะสมในแต่ละสมัย คือในสมัยแรก (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 1-2 )เจ้าบุรีรัตน์มีความสำคัญเป็นอันดับที่สามรองจากเจ้าผู้ครองนครและเจ้าอุปราช ในระยะที่สอง (เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 3 -6) เจ้าบุรีรัตน์มีความสำคัญเป็นอันดับที่สี่ ระยะหลังจากนั้น เจ้าบุรีรัตน์มีความสำคัญเป็นอันดับห้า

ในสมัยของเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2444-2452) เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์และดำรงตำแหน่งเป็นปลัดจังหวัดเชียงใหม่คนแรกพร้อมกับพระศรีวรานุรักษ์ (ศรี บุญเฉลียว) จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.2471 

เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ สมภพเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2411 เป็นบุตรคนที่ 3 ของเจ้าดวงทิพย์และเจ้าคำแสน เจ้าแก้วมุงเมืองได้รับราชการในขั้นต้นเป็นเจ้าราชภาคินัย ในสมัยเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ.2416-2440) ในปีพ.ศ.2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งเจ้าแก้วมุงเมืองเป็น "เจ้าบุรีรัตน์" ต่อจากเจ้ามหาอินทร์ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์ต่อเรื่อยมาจนถึงสมัยเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 

เจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ได้สมรสกับชายาไม่ทราบนามมีบุตรธิดา 8 คนเป็นหญิง 5 คนชาย 3 คน เจ้าหญิงสุมิตรา ณ เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชายาเจ้าบุรีรัตน์ แต่ไม่มีบุตรธิดา ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2461 เจ้าบุรีรัตน์ได้สมรสกับเจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ บุตรีของเจ้าราชวงศ์ (เจ้าชมชื่น ณ เชียงใหม่) กับเจ้าหญิงกรรณิกา ณ เชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหญิงเรณุวรรณามีศักดิ์เป็นหลานเจ้าบุรีรัตน์ 

หลังจากที่เจ้าน้อยแก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์และสมรสกับเจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ จึงได้มาสร้างอาคารคุ้มเจ้าที่บริเวณพื้นที่เดียวกันกับคุ้มเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ (เจ้าอุปราชเชียงใหม่องค์ที่ 7) ปัจจุบันคือวิทยาลัยอาชีวศึกษา ต่อมาเจ้าราชภาคินัย (เจ้าน้อยสิงห์โต) บุตรเจ้าอุปราชบุญทวงศ์ซึ่งมีคุ้มอยู่ในบริเวณนี้ เจ้าราชภาคินัย (เจ้าน้อยสิงห์โต) พร้อมทั้งชายา (เจ้า สุมิตรา ณ เชียงใหม่) ได้ยกที่ดินที่ตั้งของอาคารหลังนี้ให้กับเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง)
อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2461 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าบุรีรัตน์สมรสกับเจ้าหญิงเรณุวรรณา ณ เชียงใหม่ ขณะนั้นเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) มีพระชนมายุ 50 ชันษา เจ้าหญิงเรณุวรรณา มีพระชนมายุ 24 ชันษา เจ้าบุรีรัตน์ได้พำนักอยู่ที่อาคารคุ้มเจ้าแห่งนี้เป็นเวลา 20 ปีก่อนที่จะสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.2482 รวมอายุ 70 ชันษา 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ.2485-2487 เมื่อทหารญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองเชียงใหม่และบางส่วนได้ใช้โรงเรียนยุพราชเป็นที่ทำการ เพื่อความปลอดภัยของบุตรธิดาเจ้าหญิงเรณุวรรณาจึงได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านพักชั่วคราวที่บ้านท่ากระดาษ อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) จึงถูกทิ้งร้างอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งสงครามสงบลงจึงได้ย้ายเข้ามาพำนักในอาคารคุ้มตามเดิม โดยจะอาศัยอยู่เฉพาะชั้นล่างของอาคารคุ้ม 

ต่อมาปี พ.ศ.2490 เจ้าหญิงเรณุวรรณา มีความประสงค์จะขายอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ โดยมอบ หมายให้เจ้าอุบลรัตน์ อินทราวุฒิ (ณ เชียงใหม่) ธิดาคนที่ 1 นำโฉนดไปให้เจ้าสมบูรณ์ ณ เชียงใหม่ไป เสนอขายแก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่ ในราคา 450,000 บาท แต่ไม่มีการตกลงซื้อขาย ระหว่างนั้น พ.ศ.2490-2495 เจ้าเรณุวรรณา จึงให้สำนักงานยาสูบเชียงใหม่เช่าอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์และที่ดินบางส่วนเป็นรายเดือน โดยท่านได้สร้างบ้านพักในบริเวณด้านหลังของคุ้มเป็นที่พำนัก 
เมื่อเจ้าหญิงเรณุวรรณา วายชนม์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2493 ได้โอนมรดกกรรมสิทธิ์อาคารให้เจ้าวัฒนา โชตนา (ณ เชียงใหม่) ธิดาคนที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดก เจ้าวัฒนา โชตนาได้ฝากขายอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ให้กับนางลัดดา ศรชัย ซึ่งเป็นธิดาของนางกี ลิ้มตระกูล คหบดีและผู้บ่มยาสูบ กระทั่ง ปี พ.ศ.2496 กระทรวงการคลังได้ซื้อที่ดินและอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) จากเจ้าวัฒนา โชตนา ในวันที่ 15 มกราคม 2496 จำนวนเงิน 620,000 เพื่อให้โรงงานยาสูบจัดตั้งสำนักงานยาสูบเชียงใหม่ โดยใช้อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์เป็นที่ทำการสำนักงานตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันที่ 19 มกราคม 2541 เป็นเวลาถึง 45 ปี

สถาปัตยกรรมอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ในสมัยแรกก่อสร้าง เป็นอาคารครึ่งปูนเครื่องไม้สูงสองชั้นแบบเรือนขนมปังขิง ชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาฉาบปูนเรียบ ชั้นบนเป็นพื้นไม้มีระเบียงโดยรอบและเครื่องมีสภาพดี อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์หลังนี้เป็นอาคารที่สร้างแบบตะวันตกหลังคามียอดจั่วที่สวยงามเป็นแบบปั้นหยา มีหน้าต่างบานคู่ไม้กลางทำเป็นบานเกร็ดแบบบานกระทุ้งเหนือหน้าต่างและประตูชั้นบนเป็นช่องลมไม้ฉลุลวดลายสวยงามวิจิตร 

หลังจากที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง) ผ่านวันเวลามานานกว่า 84 ปี สำนักงานยาสูบเชียงใหม่ในฐานะเจ้าของคุ้มได้ทำการอนุรักษ์ปรับปรุงอาคาร คืนสภาพความเป็นคุ้มเจ้าให้กลับคืนมาเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูบเชียงใหม่ รวมถึงการมุงหลังคาคุ้มใหม่โดยใช้กระเบื้องดินขอซึ่งเป็นแบบเก่า นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบมีการจัดภูมิทัศน์ให้ร่มรื่น ขุดสระน้ำ ปลูกดอกไม้ให้สวยงาม

นอกจากแนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โรงงานยาสูบเชียงใหม่ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลของกิจการยาสูบเชียงใหม่ มีส่วนจัดแสดงวิวัฒนาการความเป็นมาของกิจการยาสูบในภาคเหนือตั้งแต่สมัยล้านนาแล้ว อาคารหลังนี้ยังได้จัดรวบรวมเรื่องราว ประวัติความเป็นมาของเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงเมือง ณ เชียงใหม่) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และคุ้มที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครรวมถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองเชียงใหม่สมัยนั้น ที่ยังขาดหายไปในส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรม

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (แก้วมุงมือง) แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนสถานที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการศึกษาค้นคว้าและการท่องเที่ยว ในการสืบค้นความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ลำดับและตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เจ้าขันทั้งห้าและเจ้าบุรีรัตน์ รวมถึงปัจจัยส่วนประกอบต่าง ๆ ของคุ้มที่สมบูรณ์ครบถ้วนแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่




อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)ตั้งอยู่เลขที่ 117 ถ.ราชดำเนิน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับบริจาค จากคุณเรียงพันธ์ ทิพยมณฑล และกลุ่มตระกูล กิติบุตร (อ.จุลทัศน์) และตระกูลทิพยมณฑล 

คณะสถาปัตยกรรมมีโครงการที่จะใช้อาคารหลังนี้เป็นที่ทำการศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคารหลังนี้ แสดงถึงอิทธิพลทางการก่อสร้างการแปรรูปไม้และรูปแบบสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) สร้างในระหว่างปี 2432-2436 ขณะที่มีการเริ่มต้นกิจการป่าไม้อย่างจริงจังสมัยเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 

คาดว่าสร้างก่อนที่เจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ถึงแก่กรรมประมาณปี พ.ศ. 2436 โดยเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ (ต่อมาเป็นเจ้าราชภาคินัย และเจ้าราชวงศ์) บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นผู้ครอบครองอาคารในระหว่างปี พ.ศ.2437-2489 

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2490 นางบัวผัน นิกรพันธ์ (ทิพยมณฑล) ซื้อจากเจ้าของเดิม เจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ภริยาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่) ในราคา 5,000 บาท เจ้าของคนปัจจุบันคือ นางสาวเรียงพันธ์ ทิพยมณฑล (บุตรีนางบัวผัน) นางพรรณจิตร เจริญกุศลและนายสมศักดิ์ เจริญกุศล (บุตรีและบุตรเขยของนายจรัญ กิติบุตรและนางบู่ทอง กิติบุตร (ทิพยมณฑล) เข้าอาศัย และ ได้ซ่อมแซมและต่อเติมอาคารเพียงเล็กน้อย 

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2544 ตระกูลกิติบุตรและทิพยมณฑล มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาปัตยกรรมคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอิทธิพลตะวันตกโดยเฉพาะของอังกฤษ ในรูปแบบของเรือนมะนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial Architecture Style) เป็นอาคารที่ได้แบบอย่างมาจากเมืองชวาหรือสิงคโปร์เป็นตึกสองชั้น มีมุขบ้างไม่มีมุขบ้างทรงหลังคาลาดกว่าเรือนไทย เป็นชั้นเดียวหรือสองชั้นยกพื้นเพียงเล็กน้อย ทำฝารอบเอาเฉลียงไว้ในเรือนมีบันไดข้างนอกด้วยถือคติว่าลอดใต้ถุนบ้านอัปมงคล เป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมที่มหาอำนาจในยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ซึ่งสร้างในเชียงใหม่ในยุคแรก แสดงถึงอิทธิพลทางการก่อสร้าง การก่ออิฐ การแปรรูปไม้ เทคนิคการเข้าไม้โครงสร้าง ที่เข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสถานะทางเศรษฐกิจ 

อาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) เป็นเรือนครึ่งปูนเครื่องไม้บนแบบผสม สูงสองชั้นบันไดอยู่นอกอาคารสองด้านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาก่อเป็นรูปโค้ง (Arch) ฉาบปูนมีระเบียงโดยรอบ ชั้นบนเป็นพื้นไม้มีระเบียงโดยรอบเช่นกัน และเครื่องไม้มีสภาพที่ดี หลังคาจั่วและหลังคาปั้นหยาคลุมระเบียงโดยรอบ อาคารมีความแข็งแรงทนทานแสดงถึงการใช้วิทยาการก่อสร้างที่ดีในการก่อสร้าง สันนิษฐานว่าสร้างในระหว่างปี 2432-2436



คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว




คุ้มหลวงในเจ้าแก้วนวรัฐ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2448


คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว หรือ คุ้มเจดีย์กิ่ว หรือ คุ้มเจดีย์งาม เดิมตั้งอยู่บริเวณถนนวิชยานนท์ เป็นหนึ่งในคุ้มหลวงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ภายหลังได้ตกเป็นมรดกของเจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นพระธิดา และได้ซึ่งน้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เมื่อเสด็จมาประทับนครเชียงใหม่เป็นการถาวร 

ที่เรียกว่า "คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว" ก็เพราะตัวคุ้มตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์กิ่ว (หรือ เจดีย์ขาว)ประกอบกับตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีชื่อดังกล่าว

ต่อมาคุ้มหลวงแห่งนี้ถูกขายต่อให้กับชู โอสถาพันธุ์ (เถ้าแก่โอ้ว) ในปี พ.ศ. 2488 ถูกรื้อถอนเพื่อพัฒนาเป็นตลาดนวรัฐ (หรือ กาดเจ็กโอ้ว) เมื่อปี พ.ศ. 2500 ส่วนหนึ่งก็เพราะคุ้มหลวงเองได้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ปัจจุบันใช้เป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่ 


คุ้มรินแก้ว



คุ้มรินแก้ว เป็นหนึ่งในคุ้มหลวง ใน พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ, เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่ ใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว ปัจจุบันคุ้มแห่งนี้ได้ถูกรื้อและสร้างอาคารห้วยแก้ว เรสสิเดนท์ ขึ้นมาแทนเป็นอาคารที่พักหรูขนาดใหญ่สำหรับเช่าพัก ส่วนตัวคุ้มที่รื้อ เจ้าของได้นำไม้ไปถวายให้กับวัดในเขตอำเภอสันกำแพง

การรื้อคุ้มหรือหอคำแล้วนำไม้ไปสร้างอาคารในวัดนั้นเป็นประเพณีนิยมที่ทำกันมาตั้งแต่ในอดีต เช่น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416-2439) โปรดให้รื้อหอคำของพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 5 (พ.ศ. 2390 - 2397) ไปสร้างวิหารหลวงของวัดพันเตา เป็นต้น

คุ้มรินแก้ว เป็นตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปที่ทันสมัยมากในยุคนั้น ในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพพระองค์ได้ประทับและสิ้นพระชนม์ ณ คุ้มรินแก้วแห่งนี้



คุ้มหลวงเวียงแก้ว



คุ้มหลวงเวียงแก้ว เป็นคุ้มหลวงแห่งนครเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 และถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ในรัชสมัย เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ มีชื่อว่า "ข่วงหลวงเวียงแก้ว"


ประวัติ



คุ้มหลวงเวียงแก้ว สร้างขึ้นในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวถูกปรับสภาพเป็นคุก ในสมัย พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 กระทั่งกลายเป็นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2529 ได้เริ่มมีแนวคิดในการปรับพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวง (พระราชวัง) ของนครล้านนา ต่อมาปี พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ไปตั้งอยู่นอกเมือง และให้ใช้พื้นที่เดิมนี้ สร้างเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย ในปี พ.ศ. 2544 เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงได้ขออนุญาตเข้ามาดำเนินการ

ในปี พ.ศ. 2555 กรมราชทัณฑ์ จึงได้ย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ไปอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งย้ายไปอยู่ ณ ที่ตั้งแห่งใหม่นอกเมือง และในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีการจัดกิจกรรมสวดพระพุทธมนต์ และทุบทำลายกำแพงทัณฑสถาน และได้มีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูคุ้มหลวงเวียงแก้ว โดยใช้ชื่อว่า "มูลนิธิคุ้มหลวงข่วงหลวงเวียงแก้ว" มีพระเทพวรสิทธาจารย์ เป็นประธานกรรมการ


สถานที่ในพื้นที่คุ้มหลวง


ปัจจุบันพื้นที่ของเวียงแก้ว และคุ้มหลวงเวียงแก้ว เป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ ได้แก่

- ข่วงหลวงเวียแก้ว
- ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่
- วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่
- วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่
- สำนักงานโรงงานยาสูบ เชียงใหม่


เอกสารอ้างอิง http://board.postjung.com/604660.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น