วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน

ราชวงศ์ทิพย์จักร (ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน)


ราชวงศ์ทิพย์จักร หรือ ทิพจักราธิวงศ์ หรือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นราชวงศ์ที่ปกครองนครลำปาง นครเชียงใหม่ และนครลำพูน ในฐานะเมืองประเทศราชของสยามประเทศ สถาปนาขึ้นโดยพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง)

ราชวงศ์ทิพย์จักร ได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งอาณาจักรอยุธยา โดย "หนานทิพช้าง" ควาญช้างและพรานป่าผู้มีความสามารถ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง มีพระนามว่าพระญาสุลวะฦๅไชย ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามจากราชสำนักกรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ถือเป็นนครรัฐอิสระในปี พ.ศ. 2275

เมื่อถึงแก่พิราลัย นายชายแก้วพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าชายแก้ว ซึ่งในช่วงดังกล่าวนครลำปางมีฐานะเป็นประเทศราชของพม่า โดยพระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดฯ เฉลิมพระนามให้เป็นเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว

เจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระโอรสพระองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ และ "พระยาจ่าบ้าน" เจ้านครเชียงใหม่ กอบกู้ล้านนาภายใต้การสนับสนุนจากทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2317 ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้ "เจ้าพระยาจักรี"และ "เจ้าพระยาสุรสีห์" ยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า เมื่อยึดนครเชียงใหม่และนครลำปางได้แล้ว จึงโปรดฯ ให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองนครเชียงใหม่ และเจ้ากาวิละเป็นพระยานครลำปาง ในการรบครั้งนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ได้พบรักกับเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาของพระยากาวิละ และได้ทูลขอจากเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งต่อมาเจ้าหญิงศรีอโนชาได้สร้างวีรกรรมสำคัญยิ่งในการปกป้องพระนครจากพระยาสรรค์ ซึ่งก่อการกบฏต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ พระสวามีติดการสงครามที่เขมร หลังจากปกป้องพระนครเสร็จ ได้เชิญเจ้าพระยาจักรีกลับพระนครและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในคราเดียวกันนั้นได้โปรดฯ สถาปนา "เจ้าพระยาสุรสีห์" พระอนุชาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯให้ พระยากาวิละขึ้นครองนครเชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากพม่าได้เข้ามารุกรานจนพระยาจ่าบ้านต้องพาประชาชนอพยพหนี) โปรดฯ ให้พระยาคำโสม พระอนุชาพระองค์ที่ 2 ขึ้นครองนครลำปาง และ โปรดฯ ให้ เจ้าคำฝั้น พระอนุชาพระองค์ที่ ๓ ขึ้นครองนครลำพูน ตลอดต้นรัชสมัยที่ครองนคร เจ้ากาวิละได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ กระทำการสงครามเพื่อขยายขอบเขตขัณฑสีมาออกไปอย่างขจรขจาย ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาสร้างบ้านแปงเมือง รวมทั้งได้ทรงรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีทุกอย่างให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัยราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนา ด้วยพระปรีชาสามารถและความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ เฉลิมพระอิสริยยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดี พระเจ้านครเชียงใหม่ เป็นใหญ่ในล้านนา 57 หัวเมือง

ราชวงศ์ทิพย์จักรถือเป็นราชวงศ์ล้านนาที่เชื่อมความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ล้านนาอันเก่าแก่เดิม อันได้แก่ ราชวงศ์มังรายอันมีพญามังรายมหาราชเป็นองค์ปฐมวงศ์ และราชวงศ์พะเยา พญางำเมือง ด้วยระบบความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ

นอกจากนั้น เจ้านายในพระราชวงศ์ทิพย์จักรยังได้อภิเษกสมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายา และเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองพระราชวงศ์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระราชอาณาจักรล้านนาเดิมได้เข้ารวมกับสยามประเทศอย่างสมบูรณ์

ลำดับสกุลวงศ์

ชั้น 1 องค์ปฐมวงศ์

1.พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง), ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองนครเขลางค์ (ลำปาง) นครรัฐอิสระ (2275 - 2302)

ชั้น 2 พระราชบุตรในพระยาไชยสงคราม

1.นายอ้าย
2.เจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้นครเขลางค์ (ลำปาง) ประเทศราชของพม่า (2302 - 2317), เป็นพระราชบิดาใน"พระเจ้ากาวิละ" ด้วยพระราชโอรสทั้ง 7 พระองค์ ทรงมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้ราชอาณาจักรล้านนาจากพม่า และต่อมาเจ้านายบุตรหลานได้ปกครองหัวเมืองเหนือ จึงเป็นที่มาของราชสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน" หรือ "เจ้าเจ็ดองค์"
3.นางคำทิพ
4.นางคำปา
5.นายพ่อเรือน บิดาในพระยาพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 4
6.นางกม (กมลา)

เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ (2325 - 2482)


1.พระเจ้ากาวิละ ปีที่ครองราชย์ 2325 - 2356 (31 ปี) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2.พระยาธรรมลังกา ปีที่ครองราชย์ 2356 - 2365 (11 ปี)
3.พระยาคำฟั่น ปีที่ครองราชย์ 2366 - 2368 (2 ปี)
4.พระยาพุทธวงศ์ ปีที่ครองราชย์2369 - 2389 (20 ปี)
5.พระเจ้ามโหตรประเทศ ปีที่ครองราชย์ 2390 - 2397 (7 ปี)
6.พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ ปีที่ครองราชย์ 2399 - 2413 (14 ปี)
7.พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ปีที่ครองราชย์ 2416 - 2439 (23 ปี)
8.เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ปีที่ครองราชย์ 2444 - 2452 (8 ปี)
9.เจ้าแก้วนวรัฐ ปีที่ครองราชย์ 2454 - 2482 (28 ปี)

เจ้าผู้ครองนครลำปาง (2275 - 2465)


1.พระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง ปีที่ครองราชย์2275 - 2306 (31 ปี) สมัยกรุงศรีอยุธยา
2.เจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ปีที่ครองราชย์ 2306 - 2317 (11 ปี)สมัยกรุงศรีอยุธยา
3.พระยากาวิละ ปีที่ครองราชย์ 2317 - 2325 (8 ปี) สมัยกรุงธนบุรี
4.พระยาคำโสม ปีที่ครองราชย์ 2325 - 2337 (12 ปี) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
5.พระเจ้าดวงทิพย์ ปีที่ครองราชย์ 2337 - 2366
6.พระยาไชยวงศ์ ปีที่ครองราชย์ 2369 - 2380
7.พระยาขัติยะ ปีที่ครองราชย์ 2380 - 2380
8.พระยาน้อยอินท์ ปีที่ครองราชย์ 2381 - 2391
9.เจ้าวรญาณรังษี ปีที่ครองราชย์ 2399 - 2414
10.เจ้าพรหมาภิพงษธาดา ปีที่ครองราชย์ 2416 - 2435
11.เจ้านรนันทไชยชวลิต ปีที่ครองราชย์ 2435 - 2438
12.เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ปีที่ครองราชย์ 2440 - 2465
13.เจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) ปีที่ครองราชย์ 2465 - 2468 (3 ปี)ผู้รั้งตำแหน่งเจ้านครลำปาง

เจ้าผู้ครองนครลำพูน (2348 - 2486)

1.พระยาคำฟั่น ปีที่ครองราชย์ 2348 - 2358 (10 ปี) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
2.พระเจ้าบุญมา ปีที่ครองราชย์ 2358 - 2370 (12 ปี)
3.พระยาน้อยอินท์ ปีที่ครองราชย์ 2370 - 2380 (10 ปี)
4.พระยาคำตัน ปีที่ครองราชย์ 2381 - 2384 (3 ปี)
5.พระยาน้อยลังกา ปีที่ครองราชย์ 2384 - 2386 (2 ปี)
6.เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ ปีที่ครองราชย์ 2391 - 2414(23 ปี)
7.เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ bปีที่ครองราชย์ 2414 - 2431 (17 ปี)
8.เจ้าเหมพินธุไพจิตร ปีที่ครองราชย์ 2431 - 2438 (7 ปี)
9.เจ้าอินทยงยศโชติ ปีที่ครองราชย์ 2438 - 2454 (16 ปี)
10.เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ปีที่ครองราชย์ 2454 - 2486 (32 ปี)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://th.wikipedia.org/wiki

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น