วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เจ้านายฝ่ายเหนือ

เจ้านายฝ่ายเหนือ


เจ้านายฝ่ายเหนือ หมายถึง เจ้านายในราชวงศ์ที่ปกครองหัวเมืองเหนือของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ อันประกอบด้วยสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำปาง ณ ลำพูน มหาวงศ์ สายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยายุคฟื้นฟู เจ้าน้อยพุทธวงศ์ หรือ เจ้าหลวงมหาวงศ์ ณ ลำปาง ราชวงศ์ติ๋นหลวงหรือตระกูล ณ น่าน ราชวงศ์พะเยาหรือตระกูล ศีติสาร และราชวงศ์แพร่หรือตระกูลเทพวงศ์ในปัจจุบัน ทุกวันนี้เจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ยังคงมีการสืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น และยังมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2501 ในนาม มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ


ฐานันดรศักดิ์


เจ้านายฝ่ายเหนือ มีการกำหนดฐานันดรศักดิ์เป็น 17 ชั้น โดยมีฐานันดรศักดิ์หลัก 5 ชั้น ที่เรียกว่า "เจ้าห้าขัน" หรือ "เจ้าขันห้าใบ"

เจ้าห้าขัน


ฐานันดรศักดิ์ 5 ชั้น ที่เรียกว่า เจ้าห้าขัน หรือ เจ้าขันห้าใบ ประกอบด้วย

- เจ้าหลวง เป็นฐานันดรศักดิ์ของเจ้าผู้ครองนคร
- เจ้าอุปราช เป็นฐานันดรศักดิ์ของเจ้าผู้เป็นโอรส หรือเป็นพระอนุชาของเจ้าหลวง ในลักษณะคล้ายคลึงกับพระอิสริยศ "มกุฎราชกุมาร" เมื่อคราวที่ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครว่างลง ราชสำนักกรุงเทพฯ ก็จะมีการสถาปนาเจ้าอุปราช ขึ้นครองนครเป็นเจ้าหลวงแทน เช่น เจ้าอุปราช (แก้ว ณ เชียงใหม่) ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นเจ้าแก้วนวรัฐ ครองนครเชียงใหม่
- เจ้าราชวงศ์ เป็นฐานันดรศักดิ์ลำดับที่ 3
- เจ้าบุรีรัตน์ เป็นฐานันดรศักดิ์ลำดับที่ 4
- เจ้าราชบุตร เป็นฐานันดรศักดิ์ลำดับที่ 5 อาทิ เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่)
ในกรณีที่เจ้าห้าขัน ได้อภิเษกสมรสกับเจ้า หรือกับสามัญชน เมื่อมีโอรส หรือธิดา ก็จะมีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าสืบต่อไป

เจ้าทั่วไป


นอกเหนือจากฐานันดรศักดิ์เจ้าห้าขันแล้ว ยังมีการสถาปนาฐานันดรศักดิ์อื่น อีก 12 ฐานันดรศักดิ์ ได้แก่

สถาปนาในรัชสมัยของเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์

- เจ้าราชภาคินัย
- เจ้าอุตรการโกศล อาทิ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่)
- เจ้าไชยสงคราม อาทิ เจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่)

สถาปนาในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์

- เจ้าราชภาติกวงษ์
- เจ้าราชสัมพันธวงศ์
- เจ้าสุริยวงศ์
- เจ้าทักษิณนิเกตน์
- เจ้านิเวศอุดร
- เจ้าประพันธพงศ์
- เจ้าวรญาติ
- เจ้าราชญาติ
- เจ้าไชยวรเชฐ อาทิ เจ้าไชยวรเชฐ (มงคล ณ เชียงใหม่) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร พ.ศ. 2451=
ในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศ ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือ

ศักดินา


ราชสำนักสยาม ได้มีการกำหนดศักดินาแก่เจ้านาย พระยา ท้าวแสน หัวเมืองประเทศราช ดังนี้

เจ้าหลวง


- "พระเจ้าประเทศราช" ถือศักดินา 15,000
- "เจ้าประเทศราช" ถือศักดินา 10,000
- เจ้าอุปราช ถือศักดินา 5,000
- เจ้าราชวงศ์ ถือศักดินา 3,000
- เจ้าบุรีรัตน์ ถือศักดินา 2,400
- เจ้าราชบุตร ถือศักดินา 2,400
- เจ้าราชภาคินัย ถือศักดินา 2,000
- เจ้าอุตรการโกศล ถือศักดินา 1,600
- เจ้าไชยสงคราม ถือศักดินา 1,600
- เจ้าราชภาติกวงษ์ ถือศักดินา 2,000
- เจ้าราชสัมพันธวงศ์ ถือศักดินา 2,000
- เจ้าสุริยวงศ์ ถือศักดินา 2,000
- เจ้าทักษิณนิเกตน์ ถือศักดินา 1,600
- เจ้านิเวศอุดร ถือศักดินา 1,600


บทบาทของตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือ ณ เชียงใหม่


บทบาทของตระกูล ณ เชียงใหม่ มีบทบาทที่ชัดเจนแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

บทบาทก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) เป็นวงศ์ตระกูลในชนชั้นปกครองมาตั้งแต่ยุคของหนานทิพย์ช้าง องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ต่อมาพระราชโอรส และพระราชนัดดา ได้แยกย้ายกันไปปกครองหัวเมืองประเทศราช อันได้แก่ นครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน กลุ่มพระประยูรญาติก็ดำรงตนอยู่ในสถานะชนชั้นปกครองตลอดมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2442 รัฐบาลสยามได้เข้ามาแทรกแซงกิจการในนครเชียงใหม่อย่างเต็มรูปแบบ โดยดำเนินนโยบายผนวกดินแดนและปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เจ้านายฝ่ายเหนือจึงดำรงสถานะเป็นเพียงข้าราชการที่มีเงินประจำตำแหน่งเท่านั้น

เมื่อหลังปี พ.ศ. 2442 เจ้านายฝ่ายเหนือ ได้มีการปรับตัวในด้านต่างๆ จากชนชั้นผู้ปกครองไปเป็นข้าราชการ และเป็นผู้รับสัมปทานกิจการของรัฐ อาทิ กิจการป่าไม้ กิจการเหมืองฝาย กิจการโรงบ่มยาสูบ และกิจการร้านค้าห้องแถว เป็นต้น แต่รัฐบาลสยามยังคงให้ความสำคัญในสถานะเจ้านายฝ่ายเหนือ จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยกเลิกระบบเจ้า

บทบาทหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


ตระกูลการเมือง

ตระกูล ณ เชียงใหม่ เดิมเป็นตระกูลที่มีบทบาทเป็นเจ้าผู้ปกครองนครเชียงใหม่ ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตระกูล ณ เชียงใหม่ ได้มีการปรับเปลี่ยนบทบาทตามสถานการณ์บ้านเมือง ยังคงรักษาสถานภาพทางการปกครองโดยใช้ช่องทางการเมือง โดยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้ตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นตระกูลที่มีบทบาททางการเมืองของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีนักการเมืองจำนวนหลายคนที่มาจากตระกูล ณ เชียงใหม่ อาทิ เจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่ เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตแกนนำพรรคความหวังใหม่ และร้อยเอกหญิง ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่

ด้านสังคม

ตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นตระกูลที่บทบาททางสังคมและทางวัฒนธรรม ในฐานะชนชั้นนำ อาทิ การสืบสานศิลปวัฒนธรรมฝ่ายเหนือในนามของมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ และการเข้าร่วมกิจกรรมกับจังหวัดเชียงใหม่ และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงงานรัฐพิธี ราชพิธีต่างๆ ด้วย และบทบาทในสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นประธานสภาวัฒนธรรม

นอกจากบทบาททางสังคมในเมืองเชียงใหม่ ยังมีบทบาทในสังคมชั้นนำซึ่งมีสมาชิกตระกูล ณ เชียงใหม่ หลายคนที่เข้าไปมีบทบาทในวงธุรกิจ และวงสังคมชนชั้นนำในระดับชาติ อาทิ เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่

ตระกูล ณ เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องจากระบบราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการต้อนรับอาคันตุกะ ตลอดจนการรับเสด็จเพื่อแสดงความจงรักภักดี ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเสวยพระกายาหารที่คุ้มวงศ์ตวัน และฉายพระรูปร่วมกับสมาชิกตระกูล ณ เชียงใหม่ 

ด้านเศรษฐกิจ

ตระกูล ณ เชียงใหม่ เป็นตระกูลผู้ริเริ่มธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่หลายประเภท อาทิ ธุรกิจโรงแรมแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ธุรกิจโรงภาพยนตร์แห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ ของเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ รวมถึงเจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ เจ้าของธุรกิจร้านอาหารใจกลางกรุงเทพมหานคร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง https://th.wikipedia.org/wiki

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น