วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประเพณี “การตานตุง”



“ตุง" ในภาษาถิ่นล้านนา ซึ่งภาษาไทยกลาง เรียกว่า "ธง" ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและการใช้วัสดุตกแต่งที่แตกต่างกันไป ตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย ซึ่งจุดประสงค์ของการทำตุงและการตานตุงในล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อตายไปแล้วก็จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์พ้นจากขุมนรก วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำในวันพญาวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ “การตานตุง” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งล้านนา

คำว่า”ตุง” ชาวล้านนารู้จักกันมานานทั่วไป เพราะส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา วิถีชีวิตของชาวล้านนา เริ่มแต่เกิด สู่วัยกลางคน และวัยชราต้องสัมผัสกับตุงทุกวาระ เด็กแรกเกิดมักมีตุงปักสะตวง (กระทง) ผูกขวัญ ส่งเคราะห์กรรม หรือยามไข้ป่วย เติบใหญ่ไปวัด มีการเฉลิมฉลองตุงไชยปักตั้งแต่ประตูบ้านถึงประคูวัด เทศกาลสงกรานต์ มีตุงหลากหลายปักเจดีย์ทราย เกือบทุกวันนี้ มีคนถือตุงนำหน้าประสาทศพคนตายสู่ป่าช้า มีตุงแดงปักตามข้างถนน มีสะตวงและ ณ จุดใด บอกให้รู้ว่ามีพิธีกรรม “อย่างใดอย่างหนึ่ง” ตุง คือ ประเพณีของชาวล้านนาอันมีมาตั้งแต่โบราณกาล

ภูมิหลังประวัติความเป็นมาของตุง พระพุทธศาสนามีอิทธิพล ความเชื่อของคนเมืองเป็นอย่างมาก คนเมือง คนยอง คนลื้อ คนเขินและมอญ ต่างนับถือศาสนาพุทธเดียวกัน มีวิถีชีวิตเดียวกันคือ “วิถีชาวพุทธ” เชื่อว่า การทำตุงถวายเป็นพุทธบูชา เป็นสิ่งปรารถนาสูงสุด ได้บุญกุศลยิ่งใหญ่ซึ่งจะนำพาตนเองขึ้นสวรรค์ เพราะตุง เป็นปฐมเจดีย์แห่งแรก ในล้านนาหรือคนเมืองเหนือ พระเจ้าอุชุตราชแห่งนครโยนกนาคพันธ์ ทรงสร้าง เมื่อ พ.ศ. 1454 บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมีการนำ “ ตุงไชยยาวพันวา ” ขึ้นไปปักบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ณ สถานแห่งนี้ คนทั้งหลายพากันเรียก “พระธาตุดอยตุง” จนถึงทุกวันนี้ การนำตุงขึ้นไปบูชาพระธาตุ นับเป็นการ “จุดประกาย” การเชื่อถือและศรัทธาความเชื่อความคิดเกี่ยวกับ “ตุง” ของพุทธศาสนิกชนทั่วภาคเหนือ

ชาวล้านนาแต่โบราณมีคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์การทานตุงอยู่มาก ซึ่งเล่าสืบต่อกันมา หลายชั่วอายุคนดังตัวอย่างเล่าว่า ”มีกาเผือกคู่หนึ่งออกไข่มา ๕ ฟอง อยู่บนต้นไม้ เมื่อเกิดลมพายุ ไข่ทั้งหมดได้พลัดตกลงมา ครั้นพ่อแม่กาเผือกกลับมาไม่เห็นไข่ของพวกตน ก็เกิดความโศกเศร้า จนตรอมใจตายแล้วได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ ไข่ทั้งห้าใบต่างถูกไก่ เต่า พญานาค โค และคนซักผ้านำไปเลี้ยง จนเติมโตเป็นชายหนุ่มทั้งห้าคน ต่างคนต่างก็มีจิตใจอยากบวช จึงบวชจนสำเร็จญาณและมาพบกันโดยบังเอิญ ทั้งห้าองค์มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ให้กำเนิด จึงได้สร้างตุงถวายอุทิศให้ กะกุสันทะซึ่งไก่เป็นผู้เลี้ยงสร้างรูปไก่ โกนาคมนะรูปนาค กัสปะรูปเต่า โคตมะรูปวัว และอริยะเมตรัยรูปค้อนทุบผ้า เมื่อสร้างตุงเสร็จแล้ว ก็ทำถวายอุทิศ แต่ไปไม่ถึงผู้ให้กำเนิด กาเผือกจึงต้องมาบอกให้ทำเป็นประทีปรูปตีนกาจุดไปจึงจะอุทิศไปถึง”ตุงสมัยก่อนของชาวเหนือ จึงสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าทั้งห้าองค์ การทำตุงถวายจึงเปรียบเสมือนตัวแทนสักการะของการแผ่กุศล กตัญญูกตเวทีไปถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว เราอาจเห็นตุงที่มีรูปไก่ยืนอยู่บนหัวตุงหมายถึงไก่ ส่วนลำตัวและใบของตุงแทนรูปนาค ลวดลายต่าง ๆ เป็นตารางเกล็ด หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หมายถึงเต่า และส่วนประดิษฐ์เป็นรูปกลม หมายถึงตาวัวหรือวัว

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันว่าวิญญาณผู้ตายนี้สามารถยึดหรือปีนป่ายตุงขึ้นสวรรค์ได้ ดังเรื่องเล่าว่า “กาลครั้งหนึ่งมีนายพรานซึ่งเข้าไปล่าสัตว์ในป่านานนับสิบ ๆ ปี ผ่านไปที่วัดเห็นตุงที่แขวนอยู่โบกสบัดสวยงามมาก เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงได้ทำตุงขึ้นเพื่อที่จะไปถวายวัดบูชาพระประธาน ครั้นเมื่อเขาตายไป ถูกตัดสินส่งลงนรก เนื่องจากไม่เคยทำความดีเลย มีแต่ฆ่าสัตว์ ยกเว้นแต่ทำตุงถวายวัดเท่านั้น เมื่อถูกตัดสินให้ตกนรก ตุงผืนที่เขาทำนั้นได้มาพันดึงเขาให้พ้นจากนรก นำขึ้นสู่สวรรค์ได้”

“ชาวเหนือจึงมีความเชื่อว่า การถวายหรือทานตุงนั้นมีอานิสงค์หรือได้บุญอย่างมาก”

"ตุง" ของล้านนา


มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่างเช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น

ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไป ตามความเชื่อและพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

วัตถุประสงค์ของการทำตุง


1. เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง ธงที่เป็นเครื่องหมายพวกหรือเผ่าต่างๆกำหนดสีสันให้รู้จักจำง่ายเหมือนกับ ชาติทั้งหลายในโลกที่ใช้ธงเป็นเครื่องแทนปรัชญาหรือความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. เพื่อใช้เป็นเครื่องพิธี หมายถึง การนำตุงหรือช่อธงในพิธีเครื่องบูชาเซ่นสรวง อย่างเช่นการบูชาท้าวจตุโลกบาลเป็นต้น หากไม่มีช่อธุงหรือธง ถือว่าพิธีไม่ครบถ้วน อันเป็นข้อบกพร่อง ทำให้พิธีเสียหรือไม่สมบูรณ์
3. เพื่อเป็นศักดิ์ศรีแก่เทพเจ้า หมายถึง เทพที่สำคัญทั้งหลาย เช่น พระอินทร์ พระนารายณ์ มีช่อธงเป็นเครื่องหมาย เช่นพระอินทร์มีธงสีเขียว เป็นต้น แม้สมมติเทพ เช่น พระมหากษัตริย์ ก็มีธงเป็นเครื่องหมายแห่งยศ และศักดิ์ศรี
4. เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคล หมายถึง การมีธุงหรือมีช่อประจำอยู่ เช่นเหล่ากองทหารต่างมีธงชัยเฉลิมพลอันเป็นเครื่องหมายแห่งเกียรติยศของกองทหารนั้นทำให้ทหาร ภูมิใจในความเป็นทหารของตน

 ตุง กับงานประเพณีต่างๆ


เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา ประชาชนจะทำเครื่องสักการะ
คือ ธูป น้ำส้มป่อย ตุง และ ช่อตุงหรือธุง อันเป็นเครื่องสักการะ

มี 4 ประเภท คือ

1. ตุงเดี่ยว หรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง
2. ตุงไส้หมู บูชาพระเจดีย์ พระธาตุทั้งหลาย
3. ตุงไจยหรือธงไชย ถวายบูชาพระพุทธรูป เพื่อสร้างความสวัสดีมีชัย
4. ช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชาต่าง ๆ

เรื่องของตุงปรากฏอยู่ในคัมภีร์โบราณหลายเรื่อง เช่น คัมภีร์โลกสมมุติราช โลกหานี ธรรมดาจารีต มูละขึด เป็นต้น อย่างที่ปรากฏในคัมภีร์มูละขึด จะมีเนื้อหา กล่าวถึงแนวปฏิบัติหรือข้อห้ามเกี่ยวกับตุงไว้ หากไม่ยึดถือปฏิบัติ ก็จะประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นมงคลสำหรับชีวิตที่เรียกว่า "ขึด"

- อายุยังหนุ่มหน้อยบ่พอซาวปี อย่าได้สร้างขัว หีดธรรม วิหาร อุโบสถ มหาเจดีย์ และทานตุง อันนี้แพ้อายุ อายุบ่ยืน อายุบ่เสี้ยงเขตก็ตาย ขึดนักแล
- ทานตุงบ่ทานค้าง ก็ขึด ทานตุงทานค้าง บ่ทานเสาก็ขึด
- คัพภะมีในเรือน ทานตุงก็ฉิบหาย
- ปักตุง กางตุง อันบ่มีเหตุทางบุญใหญ่ ปอยมหาป๋าง ก็ขึด
- ปักตุง กางตุง บ่จดหลัก ก็ขึด
- ขุดขุมฝังเสาตุง ก็ขึด
- ปกกระโดง คือแขวนตุงบนกิ่งไม้ ปลายไม้ ก็ขึด
- อภิเษกตุงแล้วบ่ควรจักย้าย แพ้เจ้าตุง
- ตุงบ่ขาดค้าง หลกเสีย ม้างเสีย ก็ขึด
- ตรีโอด คือ ปกช่อ ปกตุง แขวนโคมไฟในบ้าน หอเรือน ขึดนัก มักฉิบหาย แล

ทั้งหมดแปลความได้ว่า

- อายุยังน้อยไม่ถึง ๒๐ ปี อย่าสร้างสะพาน ตู้คัมภีร์ วิหาร อุโบสถ มหาเจดีย์ และตุง สิ่งเหล่านี้มีผลร้ายต่ออายุ ทำให้อายุสั้น
- การถวายตุงหากมีไม่ครบทั้งตัวตุง  ที่แขวนตุง และเสาตุง อัปมงคล,ในเรือนมีหญิงมีครรภ์ ถวายตุงเป็นทานก็ฉิบหาย
- ติดตั้งตุง โดยไม่มีเหตุทางบุญ เป็นอัปมงคล
- ติดตั้งตุงไม่ตอกหลักก่อน เป็นอัปมงคล
- ขุดหลุมฝังเสาตุง เป็นอัปมงคล
- แขวนตุงบนกิ่งไม้ ปลายไม้ อัปมงคล
- ติดตั้งตุงตามพิธีแล้ว อย่าโยกย้าย จะเกิดผลร้ายแก่เจ้าของตุง
- ขณะที่ตุงยังไม่ขาดหรือหลุดจากที่แขวน หากรื้อถอนทำลายโดยพลการ เป็นอัปมงคล
- ติดตั้งช่อ (ธงสามเหลี่ยม) ตุงหรือแขวนโคมไฟในบริเวณบ้านอัปมงคลยิ่งนัก ถึงขั้นฉิบหาย

 ตุง เป็นสิ่งที่มีความหมายเชิงพิธีกรรมและความเชื่อ การถวายตุงเป็นทานเป็นการให้ทานที่มุ่งอุทิศส่วนกุศลตามคติพุทธศาสนาขณะเดียวกันก็มีความเชื่อที่แฝงเร้นอยู่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อนพอสมควรจริงอยู่อาจมีผู้ขัดแย้งว่า การให้ทาน ตามคติทางพุทธศาสนานั้น ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ
แต่อย่าลืมว่าพุทธศาสนาในล้านนาเป็นศาสนาที่หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมเดิมจนกลายเป็นบุคลิกของล้านนาพุทธไปแล้ว พิธีกรรมตามประเพณีต่างๆกลมกลืนเป็นอัตตลักษณ์เฉพาะตัวอย่างที่พบเห็นกันอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้

ข้อปฏิบัติควรให้ถูกต้องตามประเพณีเดิมที่วางไว้ ซึ่งถ้าประมวลจากคัมภีร์มูละขึด จะมีอยู่ ๑๐ ข้อ

1. อย่าถวายตุงเมื่ออายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี
2. ถวายตุงให้ครบชุด คือ ตัวตุง ค้างแขวน และเสาตุง
3. อย่าถวายตุง เมื่อมีหญิงมีครรภ์อาศัยอยู่ในบ้าน
4. อย่าติดตั้งตุง โดยไม่มีเหตุทางบุญใหญ่ เช่นงานปอย
5. ตอกหลักก่อน แล้วมัดเสาตุงติดหลัก เมื่อติดตั้งตุง
6. อย่าขุดหลุมฝังเสาตุง
7. อย่าแขวนตุงบนกิ่งไม้ ปลายไม้
8. ติดตั้งตุงตามพิธีแล้วอย่าโยกย้าย
9. ตราบใดที่ตุงยังไม่หลุดขาดจากค้างแขวน อย่าถอดถอน หรือรื้อทำลาย
10. อย่าติดตั้งช่อ ตุงหรือแขวนโคมไฟในบ้านเรือน

ข้อปฏิบัติดังกล่าวมีบางข้อที่ไขว้เขวกันมากในปัจจุบัน เช่นการติดตั้งตุง บางแห่งมีการแขวนไว้กับกิ่งไม้ แขวนไว้กับเสาไฟฟ้า ผูกติดเสารั้ว บางคนเห็นว่าเสร็จงานแล้วก็รีบรื้อถอน หรือเห็นว่าสวยดีจึงริบเก็บเอาเป็นสมบัติของตน บางแห่งติดตั้งตุง ช่อหรือโคมไฟไว้ในบ้านเรือน ด้วยเห็นว่าสวยงาม







แหล่งข้อมูลอ้างอิง http://www.stou.ac.th/study/sumrit/3-56(500)/page2-3-56(500).html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น