วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อาณาจักรหริภุญชัย



อาณาจักรหริภุญชัย


 (ประมาณ พ.ศ. 1206-1835) ตำนานจามเทวีวงศ์โบราณได้บันทึกไว้ว่า ฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ. 1310 แล้วต่อมาได้อัญเชิญพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมจากเมืองละโว้(ลพบุรี)ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย ในครั้งนั้นพระนางจามเทวี ได้นำพระสงฆ์ นักปราชญ์ และช่างศิลปะต่างๆ จากละโว้ขึ้นไปด้วยเป็นจำนวนมาก ราวหมื่นคน พระนางได้ทำนุบำรุงและก่อสร้างบ้านเมือง ทำให้ เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) นั้นเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ต่อมาพระนางได้สร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) ขึ้นอีกเมืองหนึ่งให้เป็นเมืองสำคัญ สมัยนั้นปรากฏมีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญชัย มีหนังสือหมานซูของจีนสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวถึงนครหริภุญชัยไว้ว่า เป็น“อาณาจักรกษัตริย์หญิง หนี่ว์ หวัง กว๋อ(女王國)”

ต่อมา พ.ศ. 1824 พญามังรายมหาราช กษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ได้ยกกองทัพเข้ายึดเอาเมืองหริภุญชัยจากพระยายีบาได้ ต่อจากนั้นอาณาจักรหริภุญชัยจึงสิ้นสุดลงหลังจากรุ่งเรืองมา 618 ปี มีกษัตริย์ครองเมือง 49 พระองค์

รายนามกษัตริย์ ครองเมืองหริภุญชัย


๑. พระนางจามเทวี เป็นปฐมกษัตริย์
๒. พระมหันตยศ พระโอรสองค์ที่ ๑ ครองเมืองลำพูน
   พระอนันตยศ พระโอรสองค์ที่ ๒ ครองเมืองลำปาง
๓. พระยากูมัญญาราช
๔. พระยาสุทันตะ
๕. พระยาสุวรรณมัญชุ
๖. พระยาสังสาระ
๗. พระยาปทุมราช
๘. พระยากุลเทวะ
๙. พระยาธรรมมิกราช
๑๐. พระยามิลักขะมหาราช
๑๑. พระยาโนการาช
๑๒. พระยาพาลราช
๑๓. พระยากุตตะราช
๑๔. พระยาเสละราช
๑๕. พระยาอุตตราช
๑๖. พระยาโยจะราช
๑๗. พระพรหมมทัตราช
๑๘. พระยามุกขะราช
๑๙. พระยาตระ
๒๐. พระยาโยวราช
๒๑. พระยากมะละราช
๒๒. พระยาจุเลระ
๒๓. พระยาพินไตย
๒๔. พระยาสุเทวราช
๒๕. พระยาเตโว
๒๖. พระยาไชยะละราช
๒๗. พระยาเสละ
๒๘. พระยาตาญะราช
๒๙. พระยาสักกีราช
๓๐. พระยานันทะสะ
๓๑. พระยาอินทวระ
๓๒. พระยารักนะคะราช
๓๓. พระยาอิทตยราช
๓๔. พระยาสัพพสิทธิ์
๓๕. พระยาเชษฐะราช
๓๖. พระยาจักกะยะราช
๓๗. พระยาถวิลยะราช
๓๘. พระยาการาช
๓๙. พระยาสิริปุญญาราช
๔๐. พระยาเลทะนะราช
๔๑. พระยาตัญญะราช
๔๒. พระยาไทยอำมาตะ
๔๓. พระยาอำมาตปะนะ
๔๔. พระยาทาวะมะ
๔๕. พระยากราช
๔๖. พระยาเยทะ
๔๗. พระยาอ้าย
๔๘. พระยาเสตะ
๔๙. พระยายีบา (เป็นองค์สุดท้ายราชวงศ์จามเทวี)

ในปี พ.ศ. 2324 ภายหลังจากที่พระเจ้ากาวิละ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้านครเชียงใหม่ ขณะนั้นนครลำพูนยังคงเป็นเมืองร้าง ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ. 2357 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยาราชวงษ์ (คำฟั่น) พระอนุชาในพระเจ้ากาวิละไปสร้างนครลำพูนขึ้นใหม่ และครองราชย์เป็นพระยานครลำพูนไชย เป็นพระยานครลำพูนองค์แรก นับแต่ พ.ศ. 2357 จนถึง พ.ศ. 2475 (การเปลี่ยนแปลงการปกครอง)


นครลำพูนมีเจ้าหลวงครองนคร จำนวน 10 พระองค์ ได้แก่


1.พระยาคำฟั่น




พระยาคำฟั่น หรือ พระญาคำฝั้น หรือพระนามเต็มว่า "เจ้ามหาสุภัทรราชะ" ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2357 - พ.ศ. 2358 และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2365 - พ.ศ. 2368 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร

พระยาคำฟั่น เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 8 ในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 กับ แม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในพระยาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) กับ แม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์ "ราชวงศ์ทิพย์จักร" (เชื้อเจ้าเจ็ดตน) พระยาคำฟั่น เป็นพระอนุชาของพระเจ้ากาวิละ มีพระเชษฏา พระอนุชาและพระขนิษฐา รวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน") มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

- พระเจ้ากาวิละ พระเจ้านครเชียงใหม่ พระองค์ที่ 1 (นับเป็น "เจ้านครลำปาง องค์ที่ 3" ในราชวงศ์ทิพย์จักร
- พระยาคำโสม พระยานครลำปาง องค์ที่ 4
- พระยาธรรมลังกา พระยานครเชียงใหม่ องค์ที่ 2
- พระเจ้าดวงทิพย์ พระเจ้านครลำปาง องค์ที่ 5
- เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
- เจ้าหญิงสรีวัณณา (ถึงแก่พิราลัยแต่เยาว์)
- เจ้าอุปราชหมูหล้า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง
- พระยาคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1
- เจ้าหญิงสรีบุญทัน (พิราลัยแต่เยาว์)
- พระเจ้าบุญมา พระเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2

เจ้าคำฝั้นเษกสมรสกับ แม่เจ้าตาเวยราชเทวี ราชธิดาในเจ้าฟ้าเมืองยางแดง (หรือ เมืองกันตะระวดี) อันเป็นดินแดนกะเหรี่ยงที่รุ่งเรืองและร่ำรวยมากไปด้วยไม้ขอนสักอันล้ำค่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้รับพระราชทานพระนามอันเป็นมงคลยิ่งแก่แม่เจ้าตาเวยราชเทวี ว่า "แม่เจ้าเนตรนารีไวยมหาเทวี" แม่เจ้าตาเวยราชเทวี ได้รับมรดกส่วนพระองค์ ในฐานะราชธิดาเจ้าฟ้าเมืองยางแดง เป็นที่ดินป่าไม้ขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 400,000 กว่าไร่ ซึ่งปัจจุบันที่ดินดังกล่าวราชสำนักสยามได้ตัดสินให้เป็นป่าไม้ชั้น 2

พระยาคำฝั้น ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2368


2.พระเจ้าลำพูนไชย (บุญมา)




พระเจ้าลำพูนไชย (พ.ศ. 2303 - พ.ศ. 2370) เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนพระองค์ที่ 2 ครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2358 ถึงปี พ.ศ. 2370 เป็นหนึ่งในเจ้าเจ็ดตนต้นราชวงศ์ทิพย์จักร

พระเจ้าลำพูนไชย หรือ พระเจ้านครลำพูนบุญมา มีพระนามเดิมว่า เจ้าบุญมา ประสูติเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2303 เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว มีพระเชษฐาและพระขนิษฐา รวม 10 พระองค์ (หญิง 3 ชาย 7) (เจ้าชายทั้ง 7 พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้มีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน")


3.พระยาน้อยอินท์






เจ้าหลวงน้อยอินทร์ หรือ "พระยาน้อยอินท์" เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 และเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 3 เป็นราชบุตรของพระเจ้าคำโสม องค์ที่ 3 เป็นพระอนุชาเจ้าหลวงขัติยะ

เจ้าน้อยอินทร์ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าหลวงนครลำพูน เมื่อปี พ.ศ. 2370 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2381 เจ้าหลวงขัติยะ เจ้าผู้ครองนครลำปาง ถึงแก่พิราลัย รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าหลวงน้อยอินทร์ ไปเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปางในปีเดียวกัน

เจ้าหลวงน้อยอินทร์ ถึงแก่พิราลัยเมื่อเดือน 2 ศักราช 1210 ปีวอก ตรงกับ พ.ศ. 2391 รวมเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน 11 ปี และครองนครลำปาง 10 ปี 


4.พระยาคำตัน


เจ้าหลวงคำตัน เป็นพระโอรสในพระเจ้าบุญมาเมืองเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 2 กับแม่เจ้าจันทาราชเทวี เมื่อเจ้าหลวงน้อยอินทร์ถึงแก่พิราลัย จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าหลวงคำตัน ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน เมื่อพระองค์ถึงแก่พิราลัยในปีพ.ศ. 2384 เจ้าหลวงธรรมลังกาพระอนุชาของพระองค์ จึงได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนแทนพระองค์


5.พระยาน้อยลังกา




เจ้าหลวงธรรมลังกา หรือ พระยาน้อยลังกา (? - พ.ศ. 2386) เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 5 ครองนครลำพูนในระหว่างปี พ.ศ. 2384 ถึง พ.ศ. 2386 รวมระยะเวลาครองนคร 2 ปี

พระประวัติ


เจ้าหลวงธรรมลังกา มีพระนามเดิมว่า "เจ้าน้อยลังกา" เป็นราชโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้าบุญมาเมือง เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 2 ได้เข้ารับราชการตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุญมาเมือง ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองแก้ว นครลำพูนไชย เมื่อ พ.ศ. 2369 เจ้าน้อยลังกา ได้ช่วยบิดาก่อสร้างเมืองลำพูน ดูแลรักษาบำรุงเมือง และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือเจ้าหลวงน้อยอินทร์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 3 ในการพัฒนาบ้านเมือง

ต่อมาในสมัยของเจ้าหลวงคำตัน เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 4 ได้มอบหมายให้เจ้าน้อยลังกา เป็นแม่ทัพคุมกำลังทหารไปรวมกับกำลังของเมืองเชียงใหม่ ในระหว่าง พพ.ศ. 2381 ถึง พ.ศ. 2382 ไปตีเมืองสาด เมืองต่วน และเมืองปุเป็นผลสำเร็จ

เจ้าน้อยลังกา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน เมื่อ พ.ศ. 2384 และถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2386


6.เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ




เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 6 พระองค์ปกครองลำพูนในระหว่างปี พ.ศ. 2386 - พ.ศ. 2414 รวมระยะเวลาการปกครองทั้งหมด 28 ปี ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนที่ปกครองลำพูนยาวนานเป็นอับดับที่ 2 รองจากเจ้าจักรคำขจรศักดิ์

พระราชประวัติ


เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เป็นราชโอรสในเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 1 และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 3 กับแม่เจ้าคำแปงราชเทวี ทรงปกครองลำพูนหลังจากที่เจ้าหลวงธรรมลังกาถึงแก่พิราลัย จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนเมื่อปีพ.ศ. 2386 พระองค์ทรงปกครองลำพูนอยู่ 28 ปี พระองค์ก็ถึงแก่พิราลัยในปีพ.ศ. 2414 เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ราชโอรสของพระองค์ จึงได้เป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนแทนพระองค์


7.เจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์






เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ หรือ เจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ วรโมษกิติโสภณวิมลคุณ หริภุญไชยมหาเจดีย์บูชากร ราษฎรธุระธาดาประดิษฐบดี เจ้าลำพูนไชย มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยดาวเรือง ทรงเป็นราชโอรสในเจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6 กับแม่เจ้าโก๊ะราชเทวี และทรงเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ในเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ องค์ที่ 3 และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1 กับแม่เจ้าคำแปงราชเทวี

เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ ทรงเป็นราชโอรสพระองค์เดียวใน แม่เจ้าโก๊ะราชเทวี เสด็จขึ้นครองนครลำพูน ใน พ.ศ. 2414 และถึงแก่พิราลัยด้วยอาการไข้ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2434 รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 20 ปี


8.เจ้าเหมพินธุไพจิตร




เจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ทรงเป็น เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 8 แห่ง "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)"


พระราชประวัติ


เจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร มีพระนามเดิมว่า เจ้าคำหยาด ทรงเป็นราชโอรสใน เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6 กับ แม่เจ้าคำจ๋าราชเทวี และทรงเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ใน เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 1 และ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 3 กับ แม่เจ้าคำแปงราชเทวี

เจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ทรงมีราชอนุชา และราชขนิษฐา ร่วมราชมารดา 3 พระองค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

- เจ้าหญิงแสน ณ ลำพูน - ชายา "เจ้าหนานยศ ณ ลำพูน"
- เจ้าน้อยบุ ณ ลำพูน
- เจ้าน้อยหล้า ณ ลำพูน - พิราลัยแต่เยาว์

เจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร ได้เสด็จขึ้นครองนครลำพูน ใน พ.ศ. 2431 ต่อจาก เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ ราชเชษฐาต่างราชมารดา และเสด็จพิราลัยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439[1] รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 5 ปี


9.เจ้าอินทยงยศโชติ






เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ ทรงเป็น เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 แห่ง "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)"

เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ ทรงเป็นราชโอรสใน เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 กับ แม่เจ้าปิมปาราชเทวี และทรงเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ใน เจ้าหลวงไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 6 กับ แม่เจ้าโก๊ะราชเทวี

เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ ทรงเป็นราชโอรสพระองค์เดียวใน แม่เจ้าปิมปาราชเทวี ได้เสด็จขึ้นครองนครลำพูน ใน พ.ศ. 2438 และเสด็จพิราลัยในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2454 (หรือปี พ.ศ. 2553 หากนับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นศักราชใหม่) รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 16 ปี


10.เจ้าจักรคำขจรศักดิ์







พลตรี มหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทรงเป็น เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 แห่ง "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)"


พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ หรือ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน ทรงราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2417 ทรงเป็นราชโอรสใน เจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 กับ แม่เจ้าหม่อมราชวงศ์รถแก้วราชเทวี (อิศรเสนา) และทรงเป็นราชนัดดา (หลานปู่) ใน เจ้าหลวงดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 กับ แม่เจ้าปิมปาราชเทวี

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ทรงมีราชภคินีและราชขนิษฐา ร่วมราชมารดา 2 พระองค์ มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

- เจ้าหญิงมุกดา ณ ลำพูน - ชายา "เจ้าราชภาคินัย น้อยเมืองไทย ณ ลำพูน, เจ้าราชภาคินัยนครลำพูน" (ราชภคินี)
- เจ้าหญิงหล้า ณ ลำพูน - ชายา "เจ้าน้อยจิตตะ ณ ลำพูน" ภายหลังเป็น ชายา "เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ น้อยพุทธวงศ์ ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์นครลำพูน" (ราชขนิษฐา) เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ได้เสด็จขึ้นครองนครลำพูน ในปี พ.ศ. 2454 ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 รัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง หากเจ้าหลวงเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งขึ้นอีก แต่ก็ยังให้ความสำคัญในการสืบราชสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง เจ้านายฝ่ายเหนือ ก็ยังคงดำรงสถานะความเป็น "เจ้า" โดยกำเนิดต่อไป

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2486 รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร 32 ปี สิริพระชนมายุได้ 69 ชันษา


ปัจจุบันโบราณสถานสำคัญของอาณาจักรหริภุญชัยนั้นก็คือ พระธาตุหริภุญไชย ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นราชธานีในสมัยนั้น และยังมีเมืองโบราณเวียงมโน ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โบราณสถานที่เวียงเกาะ บ้านสองแคว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และเวียงท่ากาน ที่ตำบลบ้านกลาง ต.สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บางหมู่บ้านของจังหวัดลำพูนนั้นพบว่า ยังมีคนพูดภาษามอญโบราณและอนุรักษ์วัฒนธรรมอาณาจักรมอญโบราณอยู่




วัดจามเทวี 



อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี




ไม้เมือง - ลังกาพินธุ์
เรียบเรียง /คำร้อง/ทำนอง ประเสริฐ ศรีกิจรัตน์


ลังกาพินธุ์ ชื่อสกุลนครลำพูน
สืบตระกูลเจ้าผู้ครองนครเมินมา
เจ้าเมืองผู้บากบั่น พลิกฟื้นดินไร่นา
พุทธศาสนา รุ่งเรืองรอง

เจ้าเหมพินธุ์ ไพจิตร โสภิตดั่งทอง
เจ้าผู้ครององค์ที่แปดต่อเชษฐา
อุปราชคำหยาด บุตรเจ้าแม่คำจ๋า
ต้นตระกูลกู้ฟ้า ลังกาพินธุ์

ก่อด้วยทอง สืบด้วยทองร้อยปีผ่านมา
สกุลตรา ราชบพิตรสถิตสมัย
สายเลือดลังกาพินธุ์ยังสีทองอำไพ
ตราบเท่าฟ้าพิราลัย ใจคงรูปทอง

ก่อด้วยทอง สืบด้วยทองร้อยปีผ่านมา
สกุลตรา ราชบพิตรสถิตสมัย
สายเลือดลังกาพินธุ์ยังสีทองอำไพ
ตราบเท่าฟ้าพิราลัย ใจคงรูปทอง

เจ้าเจ็ดตน กู่ก้องดั่งฆ้องมนต์
แผ่กังวาลไพรสนก้องเกริกฟ้า
ทั่วสิบทิศ กิตติศัพท์ ร้อยปีผ่านพ้นมา
สืบรักษาคงค่า ลังกาพินธุ์
ทั่วสิบทิศ กิตติศัพท์ ร้อยปีผ่านพ้นมา
สืบรักษาคงค่า ลังกาพินธุ์



ตำนานยอง ขับร้องโดย ตู่ ดารณี



แหล่งข้อมูลอ้างอิง 
http://www.photoontour.com/SpecialPhotos_HTML/data_king_family/History/Hariphunchai_Kingdom.htm


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น